ตะลอนทัวร์คลอดทริปใหม่

ปีใหม่นี้ จะฉลองปีใหม่กันที่ไหน ที่แน่แน่ พวกสมาชิกตะลอนทัวร์เตรียมเก็บกระเป๋ากันได้แล้ว เมื่อครั้งก่อนไปเที่ยวคลองวาฬ ข้าน้อยทำผิดอย่างแรงทิ้ง สองป้าให้เดินหลงทางกลับที่พัก ใครจะไปคิดล่ะว่า ไอ้แค่ 200 ม.ตรง ๆ ท่านพี่จะหลงทาง ก็ประสบการณ์ย่ำมาแล้วรอบโลก ก็น่าจะไม่หลง แต่ผิดครับหลงครับท่าน ได้ข่าวว่าคราวนี้ จะหอบหิ้วเอาผู้อำนวยการโรงเรียนไปหลงอีกคน นี่ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พากันหลงเหมือนเมื่อคราวก่อน สงสัยต้องเตรียมหางานใหม่กันได้เลย เรียกว่ากลับมาตัวใครตัวมัน ฮิฮิฮิ มีต่อ

วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551

การวิเคราะห์ นวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ


วิเคราะห์นวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจของ ว.วินิจฉัยกุล
สุชาดา โมรา
ประวัติของ ว.วินิจฉัยกุล
ตอนเล็กๆ เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เริ่มอ่านด้วยเรื่องพล นิกร กิมหงวน ชอบเรื่องเบาๆ จึงอยากเขียนเรื่องอย่าง น้ำใสใจจริง อ่านวรรณคดี อย่าง พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน อิเหนา ที่เคยเป็นหนังสือเรียนของคุณแม่ จึงอยากเขียน เรือนมยุรา จากฝันสู่นิรันดร ดอกแก้ว การะบุหนิง เมื่อเรียนหนังสือ เรียนภาษาอังกฤษเมื่อขึ้นประถม ๒ และเอกภาษาอังกฤษ เมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัย จึงชอบแปลหนังสือ อย่าง ความพยาบาทฉบับสมบูรณ์ ชอบอ่านเรื่องนักสืบคลายเครียด เลยแปลนิยายนักสืบชุด Miss Silver Mystery เสร็จไป 2 เรื่อง คือ ธาราอาถรรพณ์ และ เพชรสีเลือด มาทำงานอยู่นครปฐมเมื่อเรียนจบแล้ว เป็นฉากของเรื่อง หนุ่มทิพย์ น้ำใสใจจริง เศรษฐีตีนเปล่า เมืองโพล้เพล้ เคยไปเรียนอยู่ต่างแดน เป็นพื้นหลังของชีวิตนักเรียนไทย อย่าง มายา วงศาคณาญาติ และของขวัญวันวาน โตขึ้นมากับเรื่องเก่าๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน จากคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง กลายเป็นแรงให้ค้นคว้าประวัติศาสตร์ จนได้เรื่อง รัตนโกสินทร์ สองฝั่งคลอง ราตรีประดับดาว และบูรพา ทุกอย่างที่เป็นประสบการณ์ชีวิตของคุณ จะมาเป็นวัตถุดิบในการเขียนได้ทั้งนั้น ขอเพียงแต่คุณอย่ามองข้าม และเห็นคุณค่าของมัน
ว.วินิจฉัยกุล เป็นชาวกรุงเทพฯ ว.วินิจฉัยกุล ชื่อจริง ๆ คือ วินิตา ดิถียนต์ เป็นศิษย์เก่า โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สำเร็จปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกทาง Curriculum and Instruction (Literature) จาก University of Northern Colorado สหรัฐอเมริกา รับราชการที่ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่ ๒๕ ปี จึงลาออกเป็นข้าราชการบำนาญ มีตำแหน่งทางวิชาการเป็น รองศาสตราจารย์ระดับ ๙ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการสื่อสารและการพัฒนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานทางด้านนวนิยาย เรื่องแปล บทวิจารณ์ บทความทางวิชาการ ฯลฯ ได้รับรางวัลวรรณกรรมจากภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ จนปัจจุบัน รวม ๑๕ รางวัล รวมทั้งรางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ จากนวนิยายเรื่อง รัตนโกสินทร์ และ นิรมิต และรางวัลดีเด่น จากบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น เรื่อง "ลินลาน่ารัก" เธอได้รับรางวัลมากมายและยังเป็นนักเขียนดีเด่นอีกด้วยอ่านต่อ

วิเคราะห์นวนิยาย เรื่อง เรือนไม้สีเบจ








การวิเคราะห์ นวนิยายเรือนไม้สีเบจ
รางวัลเกียรติยศ
- บุคคลดีเด่นทางด้านอนุรักษ์มรดกไทย สาขาภาษาและวรรณกรรม เนื่องในปีอนุรักษ์มรดกไทย สาขาภาษาและวรรณกรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๗
- ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ จากสำนัก งานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ประถมาภรณ์มงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๘
- จตุตถจุลจอมเกล้า พ.ศ. ๒๕๔๑

ผลงานการเขียน
นวนิยาย
1. แก้วราหู
2. จอมนาง
3. มิถิลา – เวสาลี
4. ไร้เสน่หา
5. เพลงพรหม
6. มายา
7. บ้านของพรุ่งนี้
8. ฟ้าต่ำ
9. ทางไร้ดอกไม้
10. ทางรัติกาล
11. เศรษฐีตีนเปล่า
12. ปัญญาชนก้นครัว
13. แม่พลอยหุง
14. วงศาคณาญาติ
15. เบญจรงค์ห้าสี
16. เศรษฐีใหม่
17. ละครคน
18. แต่ปางก่อน
19. นางทิพย์
20. เรือนมยุรา
21. ทานตะวัน
22. ผ้าทอง
23. เมืองโพล้เพล้
24. บ้านพิลึก
25. รัตนโกสินทร์
26. สองฝั่งคลอง
27. เส้นไหมสีเงิน
28. มณีร้าว
29. น้ำใสใจจริง
ฯลฯ.
รวมเรื่องสั้น : หัวหน้าของเจ้าหล่อน
เรื่องแปล
1. สงครามเสน่หา
2. คืนหนึ่ง
3. ยังจำได้
4. พิษน้ำผึ้ง
5. วัยเล่นไฟ
6. เวนิสพิศวาส
7. โรมรัญจวน
8. บัลลังก์รัก
9. ความพยาบาท ( ฉบับสมบูรณ์ )
10. นารี ( รวมเรื่องสั้นของวิลเลียม ซอมเมอเซท มอห์ม )
งานวิจัย : อิทธิพลของมารี คอลเรลลีต่อวรรณกรรมไทย
บทเพลง : ศรีสนามจันทร์ ลาวม่านแก้ว
รวมบทวิจารณ์วรรณกรรม : ปากกาขนนก ฯลฯ
ผลงานต่างประเทศ : The Night Full ( รวมเรื่องสั้นนักเขียนเอเซียในชุด The Wall and other Stories ในโครงการ UNESCO )

การนำความรู้จากเรื่องต่าง ๆ มาแต่งเป็นนวนิยายเรื่องนี้
ว.วินิจฉัยกุล มีประสบการณ์มากมายเนื่องจากเป็นนักเขียนที่โด่งดัง ซึ่งแต่งนวนิยายมามากมาย จัดว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางการเขียนเลยก็ว่าได้ เธอเป็นผู้ที่รอบรู้ในหลาย ๆ เรื่องแล้วนำเรื่องราวต่าง ๆ นำมาเรียบเรียงแล้วเขียนเป็นเรื่องราวอย่างสมบูรณ์ เธอเป็นผู้ที่มีความรู้หลายด้วยหลายแขนง เพราะเธอจบการศึกษาสูง แล้วยังมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอีกด้วย เธอสร้างสมผลงานมาจากการที่เธอเป็นนักค้นคว้าและนักท่องเที่ยวนี่เอง เธอจึงได้มีนวนิยายหลากหลายเรื่องนำมาฝากผู้อ่านอยู่เสมอ จนทำให้เธอได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปตลอดจนทุกวันนี้

วิเคราะห์กลวิธีการเขียนเรื่องเรือนไม้สีเบจของ ว.วินิจฉัยกุล
นวนิยายเป็นการเขียนประเภทบันเทิงคดีซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้นำนวนิยายมาศึกษาและวิเคราะห์วิจารณืกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากนวนิยายเติบโตมากและเป็นที่นิยมของคนหมู่มาก ตั้งแต่เด็กยันผู้สูงอายุ ต่างก็ชอบอ่านนวนิยายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีคนอ่านมาก ๆ เข้าก็มีคนซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นละคร
ส่วนใหญ่ที่เขานำนวนิยายมาวิเคราะห์นั้นก็เพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่ผู้อ่านเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนั้น ๆ ว่าเป็นนวนิยายที่ผู้แต่งต้องการนำเสนออะไรในผลงานนั้น ๆ แล้วก็นำมาวิเคราะห์อย่างมีกลวิธี เพื่อให้งานนั้น ๆ ออกมามีคุณค่ายิ่ง
วิทย์ ศิวะศริยานนท์ ( 2518, หน้า 217 ) ได้กล่าวไว้ว่า การวิจารณ์คือการพิจารณาลักษณะของบทประพันธ์ ควรแยกแยะส่วนประกอบที่สำคัญ และหยิบยกออกมาแสดงให้เห็นว่าไพเราะ งดงามเพียงใด วิเคราะห์ความหมายของบทประพันธ์นั้น ๆ”

วิเคราะห์องค์ประกอบที่สำคัญของนวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ
โครงเรื่อง
มุก หญิงสาวที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ชอบมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ เมื่อครั้งยังเด็กเธอได้ถูก นายแม่ ขอไปเลี้ยงความเป็นอยู่ของเธอจึงไม่ค่อยหรูหราเหมือนพี่น้องคนอื่นเท่าใดนัก โชคร้ายที่เธอยังมักจะถูก ธัญญา ผู้เป็นแม่หมั่นไส้การกระทำของเธออยู่ เสมอ ๆ มุกเป็นเด็กขยันจนกระทั่งเธอได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จนเป็นเหตุบังเอิญให้เธอได้มาพบกับ อาร์ม หนุ่มหล่อที่เป็นที่หมายตาของบรรดาสาว ๆ ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย รวมไปถึง ขจีรัตน์ สาว เปรี้ยว เซ็กซี่ ที่หมายมั่นจะให้อาร์มตอบรับความรักที่เขามีให้
หลังจากที่ยายของอาร์มเสียชีวิตลง เขาก็ได้อาศัยอยู่ใน เรือนไม้สีเบจ เพียงลำพัง โดยมี ลุงช่วง คนสนิทเป็นผู้คอยดูแลบ้าน ให้กับเขาอาร์มกับมุขเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น คอยดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องการเรียนจนทำให้ทั้งสองรู้สึกถึงความผูกพันจนในที่สุดก็กลับกลายมาเป็นความรัก นายแม่ถูกชะตากับอาร์มเป็นอย่างมาก ซึ่งผิดกับธัญญาที่คอยดูถูกอาร์มอยู่เสมอว่าเป็นคนธรรมดาไร้ฐานะความผูกพันระหว่างอาร์มกับมุขค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น แต่ในบางครั้งเขาทั้งสองก็ต้องพบกับอุปสรรค ส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาที่เกิดจากจี เธอมักจะคอยแสดงตัวเป็นเจ้าของอาร์มเสมอทั้งที่จริง ๆ แล้วอาร์มเองไม่ได้รู้สึกกับจีแบบคนรักเลย จนทำให้บางครั้งมุขเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจ ในตัวของอาร์ม หากแต่ทุกครั้งที่เกิดปัญหาก็ยังคงมีหยุ่น กับเข็ม เพื่อรักที่คอยให้กำลังใจเธออยู่เสมอ
เวลาผ่านไปไม่นานอาร์มเรียนจบชั้นปีที่ 4 เขาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอเมริกา ซึ่งการไปของเขาครั้งนี้ได้ไปอาศัยอยู่กับ ยศ พ่อของเขาที่หย่าร้างกับ สรวงสินี ผู้เป็นแม่ ตั้งแต่อาร์มยังเด็ก เหตุผลก็เพราะเธอมัวแต่หมกหมุ่นอยู่กับสังคมไฮโซจนไม่มีเวลาดูแลลูก อาร์ม รู้สึกไม่ ชอบใจเมื่อรู้ว่าแม่ไปแต่งงานอยู่กินกับ ศก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า จุลศก และ ศศิ ลูกติดของศกไม่ชอบหน้าเธอ ก่อนที่อาร์มจะมาเรียน ต่อที่อเมริกาเขาให้สัญญากับมุขว่าจะรักกันตลอดไป อาร์มตั้งใจเก็บเงินสร้างฐานะให้ดีขึ้นเพื่อดูแลมุก มุกตั้งใจเรียนให้จบและระหว่างนั้น เธอก็ดูแลนายแม่ไปด้วย เธอนั้นติดต่ออยู่กับอาร์มเสมอ ๆ ทางอินเตอร์เน็ต เมย์ พี่สาวของมุกได้คบหาอยู่กับจุลศก แต่หารู้ไม่ว่าแฟนหนุ่มของเธอได้แอบชอบมุก แต่มุกไม่สนใจ มุกตกใจกับข่าวที่ว่าอาร์มเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ สาเหตุเนื่องมาจากจีหึงหวงที่อาร์มรักมุก จึงเกิดปากเสียงกันขั้นถึงขั้นยื้อแย่งพวงมาลัยจนเป็นเหตุให้รถเสียหลักตกลงข้างทาง อาร์มบาดเจ็บถึงขั้นพิการ
เขาเสียใจที่ทำอย่างที่ฝันไว้ไม่ได้ อาร์มตัดสินใจเขียนจดหมายบอกความในใจกับมุกว่าเขาไม่ต้องการเหนี่ยวรั้งให้เธออยู่กับคนพิการอย่างเขา หากเธอพบคนที่ดีกว่าก็ให้ไป มุกเสียใจมากแต่เธอก็ยืนยันว่าเธอจะรักอาร์มต่อไป นายแม่เริ่มชรา จนร่างกายไม่แข็งแรงเธอ มัวดูแลนายแม่จนลืมนึกถึงอาร์ม สรวงสินีก็มัวแต่ห่วงเรื่องสมบัติ เหตุผลเพราะศกเริ่มมีอาการเจ็บป่วยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเธอเองก็ได้รับส่วน แบ่งมามากแต่เก็บไว้มิให้ใครรู้ มุกดีใจมากที่อาร์มกลับมาเมืองไทย เธอพาเขาไปกราบนายแม่ บังเอิญไปพบจุลศกเข้า จุลศกแค้นที่รู้ว่า อาร์มและมุกรักกัน เขาพยายามหาวิธีที่จะกำจัดอาร์มไปให้พ้นทาง หลังจากที่มุกเรียนจบเธอ ตัดสินใจแต่งงานแบบเรียบง่าย โดยมีนายแม่เป็นสักขีพยาน ธัญญาทราบเรื่องถึงขั้นตัดแม่ตัดลูกและไล่มุกออกจากบ้าน
ส่วนนายแม่ไม่นานก็เสียชีวิตลง มุกจึงย้ายไปอยู่กับอาร์มที่เรือนไม้สีเบจ ทั้งสองพยายามหาหนทางเพื่อเลี้ยงชีพในครอบครัว โดยการทำธุรกิจเย็บกระเป๋าสตางค์ส่งนอก ซึ่งก็ได้แม่ของอาร์มเป็นคนติดต่อลูกค้าให้ มุกและอาร์มพยายามวิ่งเต้นเรื่องพินัยกรรมของนายแม่ที่ถูกจุลศกใช้แผนสกปรก แต่ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ เวลาผ่านไป ไม่นานมุกก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายออกมาชื่อ น้องออม หลังจากศกเสียชีวิตลงสรวงสินีจึงได้กลายมาเป็นเศรษฐินีในที่สุด
มุกและอาร์มมีความสุขได้เพียงไม่นานก็ต้องพบกับอุปสรรค เมื่อจีเข้ามาวุ่นวายในชีวิตครอบครัวของเธออีกครั้ง เนื่องจากจีวางแผนล่อลวงอาร์มให้มาติดกับจุลศก เขาซ้อมอาร์มเกือบปางตาย จนทำให้มุกเข้าใจผิดคิดว่าอาร์มกลับไปยุ่งกับจี เธอตัดสินใจหอบ ลูกหนีไปอยู่กับ แม่ที่บ้าน สรวงสินีลืมเรื่องที่ผ่านมาเพราะมัวแต่เห่อหลานชาย อาร์มไปง้อขอคืนดีแต่ถูกแม่ของมุกกีดกัน เขาจึงกลับไป อยู่ในเรือนไม้สีเบจอย่างเศร้าหมอง จนเกือบตรอมใจตาย เขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มุกกับลูกเห็นใจ จนในที่สุดมุกก็ใจอ่อน ยอมพาลูกกลับมาอยู่ ที่เรือนไม้สีเบจอีกครั้ง อาร์มเริ่มมีอาการดีขึ้นจนเกือบจะเป็นปกติ กิจการเย็บกระเป๋าส่งออกนอกก็ดูจะไปได้สวย เขาขยันขันแข็งสมกับเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี สุดท้ายบั้นปลายชีวิตของเขาและเธอก็จบลงอย่างมีความสุข โดยมีลูกน้อยเป็นพยานรักระหว่างเขาและเธอใน เรือนไม้สีเบจ

แก่นของเรื่อง
พี่อาร์ม ศัสตรา คะเนสรรค์...นักศึกษาปี 4 นักกีฬาบาสเกตบอล ทีมชาติ โคจรมาพบกับ น้องมุก เมนกา เพ็ญชีพ นักศึกษาปี 1 ที่ชีวิตมีแต่การเรียน ตามประสาเด็กเรียน ขณะที่พี่อาร์ม เป็นเด็กนักกีฬา ....พรหมลิขิตบันดาลให้มาพบกัน ด้วยวิชาภาษาไทยพื้นฐาน เพราะมุกตัวเล็ก นั่งหลังพี่อาร์มเลยมองไม่เห็นอาจารย์(พี่อาร์มทักมุกว่า ตัวนิดเดียวเหมือนเด็กกระป๋อง เด็กอะไรก็ไม่รู้ ) ทั้งคู่ได้รู้จักกัน จากคำแนะนำของ พี่จี เพื่อนของพี่อาร์ม และพี่จีคนนี้ ก็ได้ทำให้ชีวิตของพี่อาร์มและของมุก มีเรื่องราวมากมาย....
ความรักของทั้งคู่ เกิดขึ้น มีคุณย่าของมุกเป็นกำลังใจ มีบ้านที่พี่อาร์มอยู่มาตั้งแต่เกิด บ้านที่มีความอบอุ่น และความทรงจำของพี่อาร์ม บ้านที่น้องมุกตั้งชื่อให้ว่า เรือนไม้สีเบจ เป็นบ้านที่พักพิง และสร้างครอบครัว
พี่อาร์ม เป็นคนเคร่งเครียด เคร่งครัด ตั้งใจจริง มีหัวใจที่อ่อนโยน บางครั้ง พี่อาร์มก็ไม่พูด มีอะไรในใจก็เก็บไว้คนเดียว ทำให้มุกไม่เข้าใจ เรื่องบางเรื่อง พี่อาร์มคิดว่าเรื่องเล็กๆ แต่มันสำคัญสำหรับมุก พี่อาร์มก็ไม่พูด ทำให้ทั้งคู่ไม่เข้าใจกัน แต่ด้วยความรัก ทั้งคู่ กุมมือกันเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้น
อย่าปล่อยมือฉันได้ไหม ไม่ว่าอะไรก็ตาม เจ็บปวดชอกช้ำแค่ไหน จับมือฉันไว้ตลอดเวลาอย่าปล่อยมือฉันได้ไหม ถึงฉันจะมีน้ำตา ก็จะขอยืนยัน ว่าฉันจะอยู่กับเธอ
แก่นของเรื่องเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของนวนิยาย ซึ่งผู้เขียนใช้เป็นสารนำเสนองานออกมาเพื่อให้เห็นธรรมชาติ หรือหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างที่อยู่ในตัวมนุษย์ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล นั้นเป็นเรื่องที่เน้นพฤติกรรมของตัวละคร
แก่นของเรื่องนั้นชี้นำเกี่ยวกับเรื่องราวของความรักเป็นส่วนใหญ่ ความรักในที่นี้อาจจำแนกออกได้หลายลักษณะดังนี้
1. ความรักของหนุ่มสาว ซึ่งเรื่องนี้สื่อให้เห็นถึงความรักที่ถูกกีดกัน เกิดจากฐานะครอบครัวที่แตกต่างกัน ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไม่ชอบฝ่ายชาย จึงตัดสิทธิ์ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวฝ่ายหญิง แต่ถึงกระนั้นทั้งคู่ก็ยังฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ด้วยดี มีความรักที่ดีต่อกัน มีความห่วงหาอาทรกัน
2. ความรักต่อบุพการีและสายเลือดเดียวกัน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรักที่ลูกมีต่อแม่ ต่อยาย ความรักพวกพ้อง
3. ความรักที่แม่มีต่อลูก ถึงแม้ว่าลูกจะเกลียดชังแม่อย่างไร แต่ด้วยสายเลือดแม่จึงยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกมีความสุข และแอบหนุนลูกอยู่ข้างหลังโดยที่ลูกไม่รู้ว่าแม่ทำเพื่อตัวเองตลอดเวลา

การดำเนินเรื่อง
เป็นการเล่าเรื่องราวในอดีตสลับกับเรื่องราวในปัจจุบัน คล้าย ๆ กับการอ่านบันทึกในไดอารี่ แต่ในเรื่องนี้เป็นการสร้างตัวละครตัวหนึ่งขึ้นมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ และกำหนดชีวิตของตัวละครหลาย ๆ ตัวผ่านการเล่าของตัวเอกของเรื่อง
การดำเนินเรื่องในนวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล นั้นผู้ประพันธ์ใช้วิธีการเล่าเรื่องราวสลับกับเหตุการณ์บางส่วน หรือสลับกับตัวละคร ต่างสถานที่ต่างเหตุการณ์ สลับกันไปสลับกันมาจนทำให้เกิดภาพพจน์ และรู้เรื่องราวของเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี ลักษณะการดำเนินเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
1. การดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา
2. การดำเนินเรื่องตามที่ผู้ประพันธ์กำหนดโดยใช้การสลับตัวละคร สลับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วเล่าเป็นเรื่องราวเป็นฉาก ๆ ไป
3. การเล่าเรื่องนั้นอาศัยตัวละครเป็นตัวเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้เรื่องนั้นมีเนื้อหาที่สมบูรณ์ และทำให้เรื่องราวนั้น ๆ น่าสนุกยิ่งขึ้น

ตัวละคร
ตัวละคร หมายถึง ผู้ที่ประกอบพฤติกรรมตามเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องเพื่อให้เรื่องดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ผู้เขียนก็จะกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนดังนี้
1. ให้ชื่อ กำหนดรูปร่าง เพศ วัย หน้าตา อายุ
2. กำหนดนิสัยใจคอ บุคลิกภาพ
3. กำหนดบทบาท และกำหนดชะตากรรมของตัวละครตัวนั้น ๆ
เมื่อพิจารณาการสร้างตัวละครในนวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล แล้วปรากฏว่าผู้ประพันธ์ได้สร้างตัวละครขึ้นจากจินตนาการ และวิสัยของมนุษย์กับธรรมชาติโดยทั่ว ๆ ไป แต่ไม่เวอร์จนเกินไป กล่าวถึงชีวิตคนได้เหมาะสม ตัวร้ายก็ไม่ร้ายจนเกินไป แต่ก็ร้ายในทีอย่างผู้ดี แต่ก็เป็นการร้ายในเรื่องของความเป็นห่วง ความรักของแม่ที่ให้กับลูก นอกจากนั้นตัวร้ายอีกลักษณะหนึ่งของเรื่องก็เป็นตัวร้ายที่ร้ายเพราะจำเป็น ร้ายเพราะความรักแบบหึงหวง ร้ายแบบหักหลังกันได้
วิธีการนำเสนอตัวละครเป็นการบรรยายเรื่องราวไปเรื่อย ๆ แล้วอาศัยการสลับระหว่างฉากกับตัวละคร หรือสลับกับบุคคลที่เป็นตัวเดินเรื่องตัวอื่น ๆ ได้อย่างแนบเนียน อุปนิสัยใจคอของตัวละครก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจน อารมณ์หึงหวง อารมณ์โกรธ เป็นต้น
การนำเสนอตัวละครนั้นดีเพราะไม่มีตัวละครมากมายให้ผู้อ่านต้องจดจำและปวดหัว แต่ตัวละครแต่ละตัวที่สร้างขึ้นมานั้นบุคคลิกลักษณะก็แตกต่างกันออกไปดังนี้
1. นางเอก ก็เรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่ค่อยพูด บทดูเป็นนางเอ๊กนางเอกจนเกินไป ไม่มีการตอบโต้นางร้ายบ้าง
2. นางร้าย ก็ร้ายเสียจนคนอ่านหมั่นไส้ เพราะนางร้ายก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อแกล้งนางเอกและพระเอก หึงหวงแบบไม่รู้ว่าจะผิดศีลข้อที่ 3 หรือเปล่า
3. พระเอก ก็เป็นคนที่ไม่ค่อยพูด มักจะโดนกลั่นแกล้งบ่อย ๆ แต่ในเรื่องนี้จะดีตรงที่พระเอกแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ เพราะไม่เป็นคนหูเบาเชื่อคนง่าย เข้มแข็งและพร้อมที่จะเผชิญชีวิตต่อไป ถึงแม้ว่าตนเองจะพิการก็ตาม

ฉาก
ฉาก หมายถึงสถานที่ เวลาที่เกิดขึ้นในเรื่อง ๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมนั้นก็นำมาเป็นฉากได้ แล้วนำมาผสมผสานผนวกกับตัวละครจนเกิดเป็นภาพพจน์และการได้รับรู้ถึงเรื่องราวในแต่ละตอน ซึ่งเกี่ยวพันธ์กับสถานที่นั้น ๆ ด้วยวิธีการเปลี่ยนฉากนั้น ผู้ประพันธ์จึงอาศัยการบรรยายเข้าช่วย โดยเปลี่ยนจากเหตุการณ์หนึ่งไปยังอีกเหตุการณ์หนึ่งสลับกับบทสนทนาของตัวละคร แล้วยังใช้วิธีการปิดฉากด้วยเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้นอย่างฉับพลัน แล้วเริ่มเปลี่ยนไปเป็นอีกฉากหนึ่ง จากนั้นจึงดำเนินเรื่องต่อไป โดยผู้ประพันธ์ได้สร้างฉากสำคัญ ๆ ในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1. การใช้ฉากธรรมชาติเพื่อแสดงความสมจริงของเรื่อง
2. การใช้ฉากในจินตนาการ
3. ฉากที่อาศัยบทบรรยายถึงบรรยากาศของสถานที่นั้น ๆ เช่นฉากบ้านของพระเอก โรงงานซึ่งเป็นการผลิตกระเป๋าในครัวเรือนของพระเอก ที่นางเอกเป็นผู้ดำเนินกิจการเอง โดยที่พระเอกไม่ค่อยมีบทบาทในส่วนนี้
4. ฉากที่แสดงรสนิยมของตัวละคร เช่น บ้านของนางเอกซึ่งแสดงฐานะความร่ำรวย การแต่งตัว การซื้อข้าวของที่เฟ้อของคนรวย เป็นต้น
5. กลวิธีในการเปลี่ยนฉากนั้น ผู้แต่งได้มีการสลับฉากกับการเล่าเรื่องและตัวละครได้อย่างดี ดูเหมือนเป็นเรื่องจริงทำให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง

ทสนทนา
บทสนทนาหรือบทพูดนั้น ตามธรรมดาแล้วนวนิยายทุกเรื่องจะต้องกำหนดให้ตัวละครแต่ละตัวพูดและคำพูดเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของแต่ละตัวนั้นเป็นคนดีหรือคนเลว เป็นนางเอกหรือพระเอก นอกจากนั้นผู้เขียนยังใช้บทสนทนาของตัวละครนั้นเองเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินเรื่องและเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนให้เปลี่ยนไปได้อีกหลายอย่างดังนี้
1. เพื่อช่วยในการดำเนินเรื่องแทนการบรรยาย
2. ช่วยแนะนำตัวละครในเรื่องทั้งบุคลิกและพฤติกรรม ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนั้น ๆ
3. ช่วยเปลี่ยนแปลงบรรยากาศเป็นการบรรยาย หรือการเล่าเรื่องของตัวละคร หรือแม้แต่การบรรยายเรื่องของผู้เขียนเองก็ตาม
4. ช่วยสร้างความสมจริงให้กับตัวละครด้วยการใช้คำพูดให้เหมือนกับการสนทนาของคนจริง ๆ หรือการสนทนาของเราปกติ
5. ช่วยดึงดูดความสนใจ และให้แนวคิดแก่ผู้อ่านทั้งความรู้สึกและอารมณ์ เพื่อให้ผู้อ่านติดตาม

คำที่ใช้ส่วนใหญ่มักจะเป็นคำพูดพื้น ๆ แบบที่เราพูดกันปกติ ดังนี้
“พอแล้วจ้ะ”
“น้องมุกต้องช่วยพี่นะ ภาษาพี่ห่วยมากเลย”
“เรานี่เจ้าคิดเจ้าแค้นไม่เลิก เรื่องมันผ่านมาเป็นสิบปีแล้วนะ”
“เรื่องของฐานะไว้สร้างกันทีหลัง ขอให้รักเราจริงก็พอ”
“พี่อาร์มว่าอะไรนะคะ”
“ผมจะไม่ไปเหยียบที่นั่นอีก”
“กี่โมงคะ”
“แหมอาร์ม คุณศกยังหนุ่มจ้ะ บอกว่าอายุ 60 ไม่มีใครเชื่อเลย”
“คุณยายเป็นไงบ้างครับ”
“ทำไมอาร์มว่าแม่อย่างนี้ล่ะลูก”
“คุณยายไม่อยู่กับเราแล้วลูก”
“A ตั้งแต่เป็นปกรายงานแล้วละค่ะ”
“อาร์มมาดูต้นโมกกับย่าหน่อยซิ”
“งั้นมุกจะเล่านิทานกล่อมพี่อาร์มเองค่ะ”
“รู้สึกใครต่อใครอ่านผมออกหมดเลยนะ”
“เออมุก เธอว่าคุณจุลศกเป็นอย่างไรบ้าง”
“ถ้าคุณอาผู้ชายเห็นด้วย เรื่องสินสอดคุณอาต้องการเท่าไหร่ก็เรียกมาเต็มที่เลย ผมจะหามาให้ได้ครับ”
“ใช่ ทำไมเรอะ…”
“กูไม่ยอมให้จบแค่นี้หรอก แต่งกันได้ กูก็ทำให้เลิกกันได้”
“พี่กับจุลศกเคยแอบอยู่กินกันลับ ๆ อยู่หลายเดือน”
“เป็นความผิดของนายแม่เอง นายแม่ไม่ควรให้จุลศกทำพินัยกรรมเลย เค้ารู้รายละเอียดเลยเกิดความโลภ จนทำให้มุกเดือดร้อน”
“อุ๊ย หนูมุก พูดยังกะโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่โต ไม่ใช่จ้ะ แค่อุตสาหกรรมในครัวเรือนเล็ก ๆ ไม่มีเครื่องจักร วัตถุดิบก็แค่ผ้าไหมกับหลอดด้าย เราไปจ้างคนเย็บแล้วเอามาส่งเราก็ได้ มีเอเย่นต์ทางญี่ปุ่นรับซื้อหมด ขอให้ทำตามแบบที่เค้าสั่งก็พอ”
“งั้นก็ดีเลย มาช่วยงานแม่ก่อนไหมลูก”
“เฮ้ย…หูแตกหรือไงวะ”
“อยู่ในห้องน้ำ…”
“มาแล้วค่ะ…”
“ใช่…ปล่อยให้พี่อาร์มแกไปเลี้ยงลูกแกเหอะ…”
“ขอบคุณค่ะ”
“พี่ไม่ไหวแล้วนะจุล…ยอม ๆ แม่สรวงสินีไปเถอะอย่าฟ้องให้ยืดเยื้อต่อไปเลย จะได้แบ่งมรดกมาใช้”
“ผมไม่ยอม”
“แล้วมาหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำไมล่ะ”
“พี่จะหมดตัวแล้วนะ… ตัวเองไม่มีลูกไม่มีเมียตัวคนเดียวก็เอาตัวรอดสิ ค่าใช้จ่ายพี่มากขนาดไหนจุลรู้ไหม จุลเองก็มีคดีติดตัวต้องใช้เงินนะ”
“อย่าบอกนะว่าอยู่กับผม”
“ใคร”
“มันจะเอาเท่าไหร่”
“5 แสน”
“มุกไม่ไล่พี่จีหรอกค่ะ…”
“อุ๊ย…รถซ่อมไม่กี่วันหรอกค่ะ”
“ขึ้นไปเก็บของนะยะ ไม่ใช่นอนร้องไห้อยู่ต่อ”
“พี่ไปด้วยนะมุก”
“รับไปอ่านซะ เขามีลูกด้วยกันแล้วย่ะ”
“มุกยอมกลับมาหาพี่แล้ว”
“ค่ะลุง”
“เจ้าตัวเล็กล่ะ”
“ก็แล้วแต่คุณสรวงเถอะค่ะ…ฉันว่างหรือเปล่าค่อยว่ากันทีหลัง”

ท่วงทำนองการเขียนของ ว.วินิจฉัยกุล
ท่วงทำนองการเขียนเป็นกระบวนการเขียนที่ผู้เขียนได้แสดงออกไว้หลากหลาย แต่ละคนจะมีแนวทางการเขียนที่แตกต่างกันเนื่องจากภูมิหลังของชีวิตคนแต่งแต่ละคนนั้นต่างกัน การใช้ชีวิตแตกต่างกัน หรือที่เรียกว่าการเจนชีวิตนั่นเอง ซึ่งงานเขียนของผู้เขียนแต่ละคนนั้นจะสร้างสรรค์ออกมาแตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะวิธีการเขียนที่อาศัยปมชีวิตเล็ก ๆ มาผนวกกับเรื่องราวในนวนิยายที่แตกต่างกัน งานเขียนที่ออกมาจึงมีความสนุกแตกต่างกันไปตามแนวการเขียนของผู้เขียน ซึ่งมีผู้ที่ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับท่วงทำนองการเขียนไว้คือ
เจือ สตะเวทิน ( 2518, หน้า 54 ) กล่าวว่า วิธีการเขียนหนังสือเป็นเทคนิค และเป็นศิลปะส่วนบุคคล แต่ละคนย่อมมีวิธีการเขียนแตกต่างกันไป นักเขียนชาวฝรั่งเศสจึงวาทะว่า “วิธีเขียนคือคน” ( Le style, e’est I’homme )… ซึ่งเป็นศิลปะการใช้ถ้อยคำและสำนวนโวหาร โดยอาจจำแนกได้ดังนี้
1. การเลือกใช้คำว่าเหมาะกับเนื้อเรื่องหรือไม่
2. สำนวนโวหารซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของผู้เขียน
3. การพรรณาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นตอนนั้น
4. การลำดับประโยคลำดับคำให้สมเหตุสมผลกับเนื้อหาของเรื่องและตอนนั้น ๆ

สำนวนภาษา
ภาษาที่มักจะเป็นภาษาที่เรียบง่าย เป็นภาษาปากที่เราใช้กันอยู่ธรรมดา ๆ ซึ่งทำให้ผู้อ่านอ่านง่ายเข้าใจง่าย การใช้ภาษาในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนั้นดีมาก เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนที่รอบรู้ เป็นนักเดินทาง ทำให้งานเขียนเรื่องนี้ออกมาดี ถ่ายทอดเรื่องราวได้เหมือนเรื่องจริง จนผู้อ่านคิดว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ตัวละครที่ปรากฏนั้นก็สื่อเรื่องราวออกมาได้ดีโดยผ่านการเล่าเรื่องของตัวละครที่เป็นตัวเด่น หรือนางเอกนั่นเอง

สำนวนโวหาร
นวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล นั้นตามลักษณะของผู้ประพันธ์จะใช้การพรรณนาบรรยายโวหาร เพราะเป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ แต่ถึงอย่างไรผู้ประพันธ์ก็ยังได้ใช้สำนวนโวหารอื่น ๆ ที่ชวนอ่านเข้ามาใช้ในการแต่ดังนี้
1. พรรณนาโวหาร ในเรื่องนี้เป็นการพรรณนาถึงความงามของธรรมชาติซึ่งอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบตัววังและเขตพระราชฐาน ความงามของตึกหรือพระตำหนัก ความงามของพระเอก นางเอก ความงามของพระราชวัง เป็นต้น ซึ่งได้ใช้ภาษาอันไพเราะงดงาม
2. อุปมาโวหาร เป็นโวหารที่กล่าวเปรียบเทียบโดยสิ่งที่กล่าวถึงนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

สภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏ
สภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องนี้อาจแบ่งได้สองส่วนดังนี้

สภาพสังคม
สภาพสังคมที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ผู้แต่งได้กำหนดให้ตัวละครใช้ชีวิตในสังคมที่มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเป็นส่วนใหญ่ และมีการเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตที่ร่ำรวยกับชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก แต่จริง ๆ แล้วถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตจริง ๆ แล้วนางเอกของเรื่องก็ไม่ได้ลำบากเท่าไรนัก ที่สร้างตัวละครเช่นนี้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสังคมที่มีแต่ความหลอกลวงของคนร่ำรวย และสังคมที่มีแต่การเอารัดเอาเปรียบกัน เปรียบเทียบกับชีวิตที่เรียบง่ายไม่ร่ำรวย มีฐานะอย่างปานกลางแบบพระเอก โดยมีทั้งชีวิตครอบครัวและชีวิตของคนที่เห็นแก่ตัวปนเปไปกับเรื่องราวของตัวละครในแต่ละตัว ซึ่งสามารถจำแนกออกมาได้ดังนี้คือ
1. ชีวิตครอบครัวที่เรียบง่าย วิถีชีวิตแบบธรรมดา
2. วิถีชีวิตคนในรวยที่ดูจะหรูหราจนเกินไป
3. การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในสังคมปัจจุบัน
4. การแบ่งชนชั้นวรรณะกันในสังคม
5. แนวความคิดของคนรวยกับคนจนที่เกิดขึ้นในนวนิยายซึ่งตรงกับเรื่องจริงในสังคมปัจจุบัน
6. เรื่องชู้สาว ซึ่งคนปัจจุบันนี้มักจะมีปัญหาเช่นนี้อยู่เสมอ ๆ

วัฒนธรรม
วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือผลิตขึ้นเพื่อสร้างความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตของมนุษย์ แล้วถ่ายทอดสืบทอดกันมาเป็นรุ่น ๆ จนเกิดเป็น วัฒนธรรมที่ยึดถือกันมายาวนาน ซึ่งในเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามและความมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยดังนี้
1. วัฒนธรรมทางวัตถุ ได้แก่ เครื่องใช้ไม้สอย การเย็บปักถักร้อย อาหาร เป็นต้น
2. วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ ได้แก่ ศาสนา การละเล่น ประเพณี

สรุปและอภิปรายผล
การวิเคราะห์นวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุลนั้น มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกลวิธีการเขียนของผู้ประพันธ์ในด้าน การสร้างโครงเรื่อง แก่นของเรื่อง การดำเนินเรื่อง ฉาก การสร้างตัวละครและบทสนทนา กับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับท่วงทำนองการเขียนของผู้ประพันธ์ในด้านสำนวนภาษาและโวหารที่ใช้ในนวนิยายเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกเอาไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
ผลการวิเคราะห์วิจารณ์พบว่า นวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงเรื่องราวชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความแบ่งแยกชนชั้นกันในสังคม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะบอกว่าไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะแต่จริง ๆ แล้วปัญหาเช่นนี้ก็ยังมีกันในสังคมอยู่ นอกจากนั้นยังบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนรวยคนจนที่แตกต่างกัน แต่ว่าในเรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าพระเอกจะจนแต่ฐานะของพระเอกเป็นฐานะปานกลาง ซึ่งคนรวยเห็นก็คิดว่าจนเพราะเทียบกับเขาไม่ได้ โดยผู้เขียนมีกลวิธีการเขียนเรื่องและการผูกเรื่องเชื่อมโยงกับฐานะที่แตกต่างกัน ทำให้ปมเรื่องน่าสนุกยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้สะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรมออกมาได้อย่างชัดเจนสมเหตุสมผล มีการดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา ความรัก ความกตัญญู เรื่องราวของครอบครัว ความมีเลือดรักชาติ รักในวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ส่วนเรื่องของบทบาทตัวละครนั้น ผู้ประพันธ์ได้กำหนดลักษณะตามฐานะโดยชี้ให้เห็นความแตกต่างทั้งเรื่องการแต่งกาย ภาษาที่ใช้ การกินอยู่ที่แตกต่างกัน และแนวคิดที่แตกต่างกันอีกด้วย
สำหรับท่วงทำนองการเขียนนั้น ผู้ประพันธ์เลือกใช้คำและสำนวนภาษาที่เหมาะสม ใช้โวหารทั้งการบรรยาย และการพรรณนา เพื่อให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมที่ปรากฏได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551

เมืองแพร่แห่ระเบิด




เมืองแพร่แห่ระเบิด
ไปมาก็ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ “จังหวัดแพร่” นี่ยังไม่เคยไปสักที ที่คุ้นหูเพราะสำนวนทักทายที่หยอกล้อกัน
“ปี๋เป็นคนเมื๋องแปร่แต๊ก๊า ??...คนแปร่ แห่ระเบิด..แต๊ๆ...ก๊า...”
คุณผู้อ่านหลายคนคงสงสัยว่า ทำไม “คนแพร่ต้องแห่ระเบิด” จะแห่นางแมวหรือแห่ผีฟ้า ผีขนุนไม่ได้หรือ เพื่อนคนแพร่ที่หลากหลายสปีชีส์ ทั้งชายจริง หญิงเที่ยม เฉลยเป็นเสียงเดียวกันว่า
“แต๊ก๊า...” พร้อมพยักหน้าแป้นๆ หงึกๆๆ เขาเล่าๆๆ ปากต่อปากกันว่า....
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พี่ยุ่นปี่ ได้ทิ้งลูกระเบิดเมืองไทย กระเด็นกระดอนไปมา ตกลงในเมืองแพร่ มีชาวบ้านตาสีตาสานำมาถวายเจ้าเมือง แต่ก็มิได้นำพา..ว่ามันคืออะไร นึกว่าเทวดาจากฟากฟ้าประทานของดีมาให้ เจ้าเมืองจึงสั่งให้ไพร่ฟ้าหน้าซื่อ มาร่วมกันแห่ของมีค่าเอิ่งเอย...เฉิบเฉิบกันทั่วเมือง เพื่อรับขวัญทำพิธี แต่ว่าอากาศหน้าร้อน ร้อนมากจนหมายังหอบแดด แฮ่กๆๆ จึงทำให้ระเบิดที่ขัดข้องเกิดทำงานขึ้นมา
ตูม!!! เดียว คณะแห่ระเบิดก็เข้าเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้กันหมด...
เป็นโศกนาฏกรรมหมู่ ที่เล่าขานเป็นตำนานสืบต่อกันมา
ในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ น้องชายที่คลานตามกันมา วีออส - อาคีระ รักษ์มีธรรม ขับรถมาทำธุระที่กรุงเทพฯ แล้วแงะผมออกจากห้องนอนแอร์เย็นฉ่ำบนคอนโด ชั้น 16 พร้อมข้อเสนอเด็ดดวง
“ไปเที่ยวแพร่ไหมว่ะ ไม่เคยไปไม่ใช่หรือ ฟรีหมด ทั้งกินและพัก ขากลับตูตีตั๋ววีไอพีให้กลับด้วย”
แค่นี้ผมก็หูผึ่ง กินฟรีอยู่ฟรีเที่ยวฟรี ตัดสินใจแค่นาทีเดียว รีบยัดของใส่กระเป๋าแจ้นมานั่งข้างคนขับ กว่ารถจะฝ่ารถติดวินาสสันตโรเมืองกรุงเข้าถึงแพร่ ก็ปาไปตี 4 น้องชายเปิดรีสอร์ตห้องใหญ่ให้นอนดั่งที่โอ่ไว้
“ มาแพร่คราวนี้ไปแค่ 4 ที่ก่อนก็แล้วกัน วัดพระธาตุโพธิสุทน แพะเมืองผี บ้านประทับใจ แล้วก็ไหว้พระธาตุช่อแฮ เชื่อเหอะ....แต่ละที่เจ๋งสุดแล้ว”
ตื่นสายหน่อยแต่ก็สดชื่น สารถีสุดเท่ก็ขับรถมารับไป วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี ห่างจากอำเภอเด่นชัย 3 กิโลเมตร แค่เห็นไกลๆ ก็ดูอลังการมากเหมือนในหนังงบสร้างไม่จำกัดเงินบาท ของท่านมุ้ยเลยทีเดียว
ภายในวัดคือศาลาพิพิธภัณฑ์สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง รูปทรงล้านนา ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุมีค่าของหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น พระพุทธรูป เครื่องเขิน เครื่องดนตรีล้านนา อาวุธโบราณ รูปภาพเจ้านายฝ่ายเหนือและภาพเหตุการณ์ในอดีตต่างๆ เช่น การประหารนักโทษด้วยดาบ ถ่ายแบบช็อตต่อช็อต ทั้งดาบหนึ่ง ดาบสอง และ ที่มีให้แปลกลูกตาอีกสิ่ง คือ มัคนารีผล เพศชาย-หญิง มีทั้งใบหน้า ลำตัว แขน ขา และ... ครบ
ทำบุญ ถ่ายรูป จนหนำใจ ก็ดอดเข้าเมืองต่อไปที่ บ้านประทับใจ (บ้านเสาร้อยต้น) ตั้งอยู่เลขที่ 59 หมู่ 13 ตำบลป่าแมต สร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง โดยใช้ไม้สักท่อนขนาดใหญ่ ตั้งเป็นเสาบ้านรวม 130 ต้น แต่ละเสามีอายุประมาณ 300 ปี นานกว่ากรุงรัตนโกสินทร์ของเราอีก แกะสลักอย่างประณีตวิจิตรบรรจงทรงเครื่องใหญ่ ตัวบ้านเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ มีเนื้อที่ถึง 1 ไร่เศษ เดินประทับใจกันจนเมื่อยตุ่ม
ที่กิ๊ปเก๋ยูเรก้า คือค่าเข้า 20 บาทถูกกว่าค่าโดยสารรถแอร์ยุคนายกหน้าหมู..อุ๊ปป!!! อีก แถมยังได้พวงกุญแจไม้แกะสลักเป็นที่ระลึก ประทับจิตสมชื่อบ้านจริงๆ
รุ่งเช้า...วันอาทิตย์ สายแล้วก็ยังนอนต่อ.... อย่าหวังว่าใครจะแงะออกจากผ้านวมนุ่มๆ ได้ เพราะแอร์กำลังเย็นฉ่ำได้ใจ นอนรีสอร์ตทั้งที่เปิดแอร์ไปเหอะ ต่ำว่า 25 องศา เป็นนิสัยเสียส่วนตัวห้ามลอกเลียนแบบเชียว
เกือบเที่ยงวัน ผ้าห่มผืนใหญ่ถูกกระชากออก พร้อมหมอนใบใหญ่ที่ฟาดลงมาไม่นับ “พั่บๆๆๆ”
“เฮ้ย...ตื่น..ตะวันส่องก้นแล้วโว้ย นอนเป็นหมูอิ่มรำอยู่นั้นล่ะ จะมาเที่ยวหรือมานอนกันว่ะ”
“เออ....จะไปไหนล่ะวันนี้ พ่อเลี้ยง”
“ไป แพะเมืองผีดีกว่า เย็นๆ หน่อย ค่อยไปไหว้พระธาตุช่อแฮ ซื้อม่อฮ่อมบ้านทุ่งโฮ่ง ส่วนน้ำตกตาดหมอก ถ้ำผานางคอย ไว้โปรแกรมหน้าค่อยมาแล้วกัน เดี๋ยวไม่ทันขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ”
“โห...พูดซะหรูเชียว เครื่องที่ว่าของมึ.. นี่มันเครื่อง 999 สายเอเซียหรือเปล่าว่ะ”
”สนามบินแพร่” มีจริงๆ นา แต่เห็นรกร้าง จนวัวจะเข้าไปเล็มหญ้าอยู่รอมร่อแล้ว เพราะที่นี่เคยบูมเรื่องการท่องเที่ยวที่ได้เปรียบจังหวัดอื่นมาก่อน แต่ระยะหลังผู้นำของจังหวัดอาจจะยุ่งเรื่องอื่น ทำให้สนามบินวันนี้เหลือเพียงสถานที่พร้อมใช้ ป้ายบอกชื่อเก๋ๆ แบบนี้เข้าข่ายมีศักยภาพแต่ขาดวิสัยทัศน์ ทำให้ไม่มีการพัฒนา
“แพะเมืองผี ไม่ใช่ผีนะ ภาษาท้องถิ่น คำว่าแพะ คือป่าละเมาะ ส่วนคำว่าผี แปลว่าเงียบเหงา วังเวง”
น้องชายพูดไปขับรถไป ตามเส้นทางหลวงสายแพร่-น่าน 18 กิโลเมตรจากตัวเมืองก็มาอยู่บนเนินหินทราย....
“เงียบฉี่.......หงุดหงิด ๆๆๆ ” ผมเริ่มทำเสียงร้องแข่งกับจิ้งหรีด จั๊กจั่น เข้ากับบรรยากาศ
เออ...สมกับเป็น แพะเมืองผีจริงๆ ใครหาช่องทางหนีแฟนที่ชอบไถ่เงิน มาที่นี่รับรองแฟนตามไม่เจอแน่
สถานที่นี้ได้ก่อตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524 บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ มีสภาพเป็นภูมิประเทศเป็นดินและทรายที่ถูกน้ำกัดเซาะตามธรรมชาติ เป็นรูปทรงลักษณะต่างๆ เช่น ดอกเห็ด หน้าผา ดูเร้นลับน่ากลัว และคงเหมาะสำหรับเป็นโลเกชั่นวิ่งหนีผีปอบ หรือเปิดกล้องบ้านผีเปิปภาค 2 จริงๆ
“ไป๊..“พระธาตุช่อแฮ” กันต่อดีกว่า นี่ไปเป็นครั้งที่ 6 แล้ว ใกล้จะครบ 9 ครั้ง แล้ว”
“อ่าว...แล้วทำไมต้องครบ 9 ครั้งล่ะ” คนฟังหน้าซื่อแต่หล่อลากอ๊วก ฉงนใจถาม
“ตูเกิดปีขาล พระธาตุช่อแฮ เป็นพระธาตุประจำของคนปีขาล นมัสการครบ 9 ครั้งจะได้ขึ้นสวรรค์ไง”
“อ่อ..อือ...” ได้ยินก็ถึงบางอ้อ จะว่าไปน้องชายผมก็ทำงานเหมือนเทวดานะ มีรถประจำตำแหน่ง เข้างานเวลาไหนก็ได้ เงินเดือนเกือบแสน ได้เที่ยวฟรีเมืองนอกทุกปีแบบไม่ต้องลุ้นฝาโออิชิ มีแฟนสวยระดับดาววิทยาลัย เราก็ได้แต่ทำใจ จะหล่อลากไส้หรือรวยวาสนา ก็ต้องเลือกเอา เหมือนอัสนี-วสันต์ ไง ที่ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง เพลงซึ้งแบบไม่ต้องพึ่งใบหน้าหากิน
“พระธาตุช่อแฮ” ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ตามตำนานที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องแห่ระเบิดกล่าวว่า ในสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) สร้างโดย ขุนลัวะอ้ายก๊อม เจ้าเมืองลาว พระธาตุประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า
เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูนหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนา และชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ แต่ว่าในวันที่ไป ตัวพระธาตุกำลังปรับปรุงอยู่
บริเวณทางเข้าพระธาตุ มีซุ้มของหลวงพ่อทันใจ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางสมาธิ ด้านหลังซุ้มมีไม้เสี่ยงทายใช้แทนไม้เซียมซี หากต้องการสิ่งใดก็นำไม้เสี่ยงทายมาทาบกับช่วงแขนเหยียดให้สุดพลัง แล้วทำเครื่องหมายไว้ อธิฐานขอพรต่อพระเจ้าทันใจ หากสำเร็จขอให้ความยาวของตนเลยจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ แต่ถ้าไม่สมหวัง ก็คงต้องไปหาซื้อ “ยาทัมใจ” มากินแทนแล้วกัน
“ขอให้รวย มีโชคถูกหวย ร่างกายแข็งแรง เจ้านายรัก โบนัสดี ” ขอๆๆเข้าไป เพี้ยง...ให้ได้อย่างใจคิดเถิด
“เฮ้ย...เห็นไหว้นานแล้วนะ...จะกลับกรุงเทพฯ ไหมนี่” น้องชายเข้ามาสะกิด
ยกนาฬิกาขึ้นดู เกือบ 6 โมงเย็นแล้ว ต้องขึ้นเครื่อง 999 สายเอเซีย แล้วดิ....
ทริปนี้...ต้องขอบใจน้องชายตัวดี พากินพาเที่ยวประทับใจ แต่กลับหงุดหงิด เพราะนั่งรถเมล์ 70 ที่นั่ง แทนรถวีไอพี แถมยังนั่งหลังสุดอีก ไหนไอ้น้องชายตัวดีบอกตีตั๋วกลับ 24 ที่นั่งไฮโซเลิศๆให้ไง นี่มันรถเมล์ เกรดซี แบบไม่ต้องเหยียดขา นั่งอั้นฉี่ กั้นตด ห้องน้ำก็ไม่มี และที่นรกสุดๆ คือแอร์เสียอีก ผมก็โวยวายขึ้นมาทันที
“ตั๋ววีไอพีหมด เลยได้รถเสริมมา ขึ้นไปเหอะถึงกรุงเทพเหมือนกัน หรือไม่อยากกลับไปทำงานว่ะ”
เฮ้อ...ได้แต่ถอนใจ....จริงอย่างว่า ไอ้ผมเองก็เรื่องมากไปอย่างนั้นล่ะ ของฟรีบางครั้งไม่ดีก็เยอะ ลำบากกว่านี้ก็เคยมาแล้ว แต่สองวันนี้ก็สนุกเพลิดเพลินตาดี กับเมืองเล็กๆ ที่น่ารัก ไว้จะกลับมาเที่ยวฟรีให้ครบโปรแกรมอีกนะ...ไอ้น้องชาย.

นั่งรถม้ารับลมหนาว "เมืองเขลางค์" กับครูอาร์ม

นั่งรถม้ารับลมหนาว“เมืองเขลางค์”
ยามลมหนาวมาเยือน ชวนให้คนกรุงอย่างเรานึกอยากแอ่วเมืองเหนือขึ้นมาทันที แต่เหมือนฟ้าเปิดโอกาสเข้าแล้ว เมื่อมีหมายเชิญจากพ่อเมืองไฟแรง นายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เชิญสื่อมวลชนทุกแขนงไปรวมตัวกันท้าลมหนาวยลถิ่นวัฒนธรรมลำปาง กันถึงที่
ว่าไปแล้วขึ้นเหนือทีไร ใจจดจ่ออยู่กับ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย อยากขึ้นดอยแอ่วภูอู้เหนือ จ.ลำปาง เลยแอบน้อยใจว่า แหม...เห็นฉันเป็นแค่ทางผ่านหรือไง คราวนี้ล่ะเลยได้ม่วนซื่อเมืองไก่ขันสมใจอยาก งานนี้ต้องยกเครดิตให้ผู้ว่าฯ ที่แปลงร่างเป็นไกด์กิตติมศักดิ์พาพวกเราแอ่วลำปางในมุมมองใหม่ที่น่าสนใจ
“ลำปางได้ชื่อว่า เป็นเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่ถึง 1,327 ปี มีที่ท่องเที่ยวทั้งวัฒนธรรมที่ไม่เป็นรองใครในภาคเหนือ และกิจกรรมก็จัดขึ้นตลอดหน้าหนาว ทั้งงานท่องเที่ยวเหมืองแม่เมาะ งานประเพณีล่องสะเปายี่เป็ง งานลำปางเซรามิกแฟร์ งานกาชาด เราเตรียมความพร้อมไว้แล้วให้สมกับชื่อคำขวัญของจังหวัดที่มีเอกลักษณ์โดเด่น ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก เลยครับ”
สมแล้วที่เป็นพ่อเมือง...รู้ลึกรู้จริงประชาสัมพันธ์เก่งจริงๆ ครับท่าน
เสียงรถม้าวิ่งดังก๊อกแก็บๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมหนอ..ที่นี่ต้องมีรถม้าไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย เห็นมีแค่จังหวัดเดียวเท่านั้นที่มีสาถีขี่รถม้า
แต่ถ้าได้รู้ถึงประวัติอาจจะต้องร้องโอโห...เพราะรถม้าในลำปางมีมาเป็นร้อยปีแล้ว
“ รถม้าเข้ามาในไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว แต่สมัยรัชกาลที่ 5 สั่งรถม้าเข้ามามากเพื่อใช้เป็นรถหลวง แต่เมื่อมีรถยนต์ รถม้าจึงได้ออกมาอยู่แถบชานเมือง ประมาณปี 2458 ได้มั้ง มีรางรถไฟขึ้นมาถึงลำปาง รถม้าจึงถูกให้ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะรับส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมือง ก็เลยเป็นเอกลักษณ์อยู่ทนอยู่นานมาถึงทุกวันนี้ล่ะ” ลุงชาติ สารถีรถม้าอธิบายซะกระจ่างแน่นข้อมูลจนหมดข้อกังขา
ถือว่าเป็นกลยุทธ์ให้คนอื่นคิดถึงลำปางได้ดีจริงๆ แต่มาทั้งทีไม่ได้นั่งรถม้าเหมือนมาไม่ถึงลำปาง ว่าแล้วลุงชาติก็พานั่งรถม้าวนทั่วจังหวัด ลมเย็นเคลิ้มๆทำท่าจะหลับ พี่ท่านก็พาเลี้ยวเข้า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ต.เวียงเหนือ โดยมีท่านผู้ว่าฯ ยืนยิ้มให้ข้อมูลอยู่แล้ว
“เดิมวันแห่งนี้ เป็นวัดเก่าแก่นับพันปีที่ยังคงศิลปะแบบล้านนาผสมพม่า เป็นวัดที่เคยประดิษฐพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ตั้งแต่ปี พ.ศ.1979 เป็นเวลาถึง 32 ปี” ท่านผู้ว่าฯ อธิบาย
มิน่าถึงดูมีมนต์ขลังแบบศิลปะลานนาและพม่าผสมผสานกันดูสวยงามสมชื่อวัดคู่บารมีเมืองลำปาง แต่จะว่าไปยังมีอีกวัดที่เราๆท่านๆ คุ้นเคยกันดี ผู้ว่าฯ ของเราก็ไม่ลืมพาเราไปหย่อนใจชมความงามที่ “วัดพระธาตุลำปางหลวง” มีความแปลกอยู่ที่ได้ชมพระธาตุกลับหัว ต้องเข้าโบสถ์ดูในที่มืด UNSEEN ลูกตาดีแท้
สำหรับคนเกิดปีฉลู มาสักการะให้คบ 9 ครั้งเชื่อได้ว่า ตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ แต่เดี๋ยวก่อน พวกที่บาปหนาโกงกินบ้านเมือง ยาหอมชาวบ้านไปวันๆ แล้วไปโกยเอาในคลังบ้านเมือง ต่อให้ไปไหวมาร้อยวัด นรกก็ยังกวักมือเรียกท่านอยู่ (อุ๊ปป์..อันนี้เราคิดเอง ไม่เกี่ยวกับบันทึกใบลานแต่อย่างใด)
ไหนๆ ก็มาลำปางทั้งที่ มีทีเด็ดที่ไหน ผู้ว่าฯ พาไปแอ่วหมดเท่าที่เวลามีจำกัด เลาะไปแวะมาพาเข้าอำเภอห้างฉัตร ชม “พิพิธภัณฑ์กะลามะพร้าว” ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่นี่เขาล่ะ
ที่นี่มีของขายที่ทำจากกะลามะพร้าวทั้งหมด ช่างคิดช่างทำช่างเสกสรรดีแท้หนอชาวบ้านห้างฉัตร
“ ซื้อผลิตภัณฑ์โอท้อปที่นี่ ถ้ามีปัญญาขนก็เอาไป ลด 30 % สำหรับคนกันเอง”
แค่นั้นล่ะ ทั้งคณะก็แตกหือไม่รอช้า มุมใครมุมมัน กดเครื่องคิดเลขมือเป็นระวิงเหมือนมหกรรมมิทเดย์เซลล์เชียว แหม..เข้าใจพูดนามีปัญญาขนก็ขนไป แต่เงินซิมีปัญญาหามาได้แค่นี้
“เดี่ยวก่อนอยากเพิ่งเหมาหมดจะพาไปโรงงานเซรามิกต่อ ลดอีก 50%” แน่ะ…ยังมีทิ้งท้ายอีก
สรุปแล้วงานนี้นักข่าวอย่างเราๆกระเป๋าฉีกบานแบะ แต่ท่านผู้ว่าฯยิ้มแก้มป่อง เพราะเม็ดเงินหมุนคล่องสะพัดโอท็อปลำปาง แบบไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ
หลังจากที่เที่ยวชมความงามศิลปะลำปางมาทั้งวัน จึงได้แวะเข้าที่พัก “เหมืองแม่เมาะ” ที่นี่ล่ะ..ไฮไลต์ของ จ.ลำปางของแท้ ใครจะเชื่อบ้างว่า ลำปางก็มี” ทุ่งบัวตอง” สวยแข่งกับดอยแม่อูคอ แม่ฮ่องสอน เลยนะ
ผิดแต่ตรงที่นี่เป็นภูเขาที่สร้างขึ้นสุดลูกหูลูกตา เกิดจากดินและกากถ่านหินจากเหมืองที่ขุดขึ้นมาทับถมกันเป็นภูเขาเทียม โดยมีแผนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวถาวร ด้วยการสร้างศาลาชมวิว พร้อมลานกิจกรรมด้านบนยอดดอย และปลูกบัวตองในบริเวณลาดเขารอบๆดอย เพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นพื้นที่สีเขียว ตัดกับปล่องควันยักษ์จากเหมืองถ่านหินที่เห็นแต่ไกลๆ ดูแล้วให้ได้คิด
มนุษย์เป็นผู้ร้ายที่จ้องทำลายธรรมชาติ แต่สุดท้ายธรรมชาติเท่านั้นล่ะ..ที่คอยเยียวยามนุษย์ให้อยู่รอด
เด็กๆ ที่มาเหมืองนี้ ความตั้งใจมีประเด็นเดียวล่ะ คือ เล่นสไลด์เดอร์ธรรมชาติ ที่ใช้แผ่นยางไหลลื่นไปกับพื้นหญ้าในแนวดิ่งอย่างสนุกสนาน ผู้ใหญ่หัวใจเด็กอย่างเราๆ ก็พลอยแย่งเด็กเล่นไปด้วย สนุกดี
นอกจากสนุกกับธรรมชาติแล้ว ที่นี้มี พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา ตั้งอยู่ทางเข้าสวนพฤกษชาติ เป็นศูนย์นิทรรศการถาวร จัดแสดงเรื่องเกี่ยวกับธรณีวิทยาของประเทศไทย และเน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำปางโดยตรง ประกอบด้วยส่วนจัดแสดง 4 ส่วน ส่วนแรกให้ความรู้เรื่องถ่านหิน ส่วนที่สองเป็นภาพยนตร์สามมิติ เรื่องกำนิดโลก และนิทรรศการเกี่ยวกับธรณีวิทยา และฟอซซิลที่พบในบริเวณพื้นที่เหมืองแม่เมาะ ซากไดโนเสาร์ของแท้ ซากช้างโบราณ 4 งา และสัตว์ทะเลน้ำลึกที่ขุดพบจากชั้นหิน ดูตื่นตาตื่นใจจริงๆ
อีกสองส่วนที่เหลือคือ ห้องผลิตไฟฟ้า จัดแสดงแบบจำลอง ตั้งแต่เริ่มทำเหมืองจนผลิตออกมาเป็นกระแสไฟฟ้า และ ห้องเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงภาพ และวีดิทัศน์ เกี่ยวกับกิจการถ่านหิน และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตกดึกกับการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง การแสดงเปิดงานแถลงข่าวฤดูกาลท่องเที่ยวของลำปาง....มี ชาวเขา ชาวเมืองพื้นบ้าน มาแต่งกายทำอาหารพื้นเมืองให้นักท่องเที่ยวที่ร่วมงานได้กินกันอย่างเอร็ดอร่อยพร้อมการแสดงแบบศิลปะ เป็นอันจบทริปนครเขลางค์ อย่างสุดสวยในค่ำคืนนั้น
เอ้า..เร็ว..มื้อนี้ยังบ่ได้หมดหนาว ขอเชิญ ป้อแม่ ปี้น้อง ละอ่อน แม่อุ๋ย พ่ออุ๋ย แวะแอ่วลำปางก่อนแห่มกำ ค่อยแอ่วเวียงเชียใหม่ได้เน้อ..อ้ายจะได้ฮู้ว่าลำปางมีอันหยังบะเร่อบะเต๋อให้ม่วนอกม่วนใจกั๋น......
พัศสรรค์ รักษ์มีธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

หลักเกณฑ์การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ - รหัสไปรษณีย์




หลักเกณฑ์การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ - รหัสไปรษณีย์
ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ รหัสไปรษณีย์ และเลข แผ่นป้ายทะเบียนรถ ซึ่งทางฝ่ายเลขานุการได้ติดต่อสอบถามไปยังองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย และกรมการขนส่งทางบก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้ง ๓ แห่งนั้นด้วยดี จึงขอสรุปหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มาเสนอท่านผู้ฟัง ดังนี้

๑. สรุปหลักเกณฑ์การเขียนและอ่านหมายเลขโทรศัพท์

ก. การเขียน มีหลักเกณฑ์ดังนี้

๑. หมายเลขโทรศัพท์ภายในประเทศให้เขียนขึ้นต้นด้วยรหัสทางไกลหรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ภายในวงเล็บ เว้น

๑ ตัวอักษร ตามด้วยเลขรหัสชุมสายเว้น

๑ ตัวอักษรหรือใช้เครื่องหมายยัติภังค์คั่น ตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

๑.๑ หมายเลขโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น (๐๒) ๒๕๓ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๒) ๒๕๓ ๑๒๓๔

๑.๒ หมายเลขโทรศัพท์ในต่างจังหวัด เช่น (๐๓๒) ๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๓๒) ๒๑ ๑๒๓๔

๑.๓ หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น (๐๑) ๒๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๑) ๒๒๑ ๑๒๓๔

๒. หมายเลขโทรศัพท์ต่างประเทศ ให้เขียนขึ้นต้นด้วยเครื่องหมายบวก "+" ตามด้วยรหัสประเทศ เว้น ๑ ตัวอักษร ตามด้วยรหัสทางไกลหรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยให้ตัดเลขศูนย์ที่นำหน้ารหัสทิ้ง เว้นหนึ่งตัวอักษร ตามด้วยรหัสชุมสาย เว้น ๑ ตัวอักษร หรือ ใช้ เครื่องหมายยัติภังค์คั่น ตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

๒.๑ หมายเลขโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น + ๖๖ ๒ ๒๕๓ - ๑๒๓๔ หรือ ๖๖ ๒ ๒๕๓ ๑๒๓๔

๒.๒ หมายเลขโทรศัพท์ในต่างจังหวัด เช่น + ๖๖ ๓๒ ๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ + ๖๖ ๓๒ ๒๑ ๑๒๓๔

๒.๓ หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ +๖๖ ๑ ๒๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ + ๖๖ ๑ ๒๒๑ ๑๒๓๔

ข. การอ่าน มีหลักเกณฑ์ดังนี้

ในการอ่านหมายเลขโทรศัพท์ ให้อ่านหมายเลขโทรศัพท์เรียงกันไปและอ่านเลข ๒ ว่า "โท" ทุกตัว ยกเว้น "๒" ส่วนที่เป็นรหัสประเทศและรหัสทางไกล ให้อ่านว่า "สอง"แทน โดยมีลำดับการอ่านดังนี้ อ่านรหัสประเทศ (ถ้ามี) รหัสทางไกลหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ รหัสชุมสายและหมายเลขโทรศัพท์ เช่น (๐๒) ๒๕๓ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๒) ๒๕๓ ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสทางไกล ศูนย์-สอง หมายเลขโทรศัพท์ โท - ห้า - สาม หนึ่ง - โท - สาม - สี่"

(๐๓๒) ๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๓๒) ๒๑ ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสทางไกล ศูนย์ - สาม - สอง หมายเลขโทรศัพท์ โท - หนึ่ง หนึ่ง - โท - สาม - สี่"

(๐๑) ๒๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๑) ๒๒๑ ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ ศูนย์ - หนึ่ง หมายเลขโทรศัพท์ โท - โท หนึ่ง หนึ่ง - โท - สาม - สี่"

+ ๖๖ ๒ ๒๕๓ - ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสประเทศ หก - หก รหัสทางไกล สอง หมายเลขโทรศัพท์ โท - ห้า - สาม หนึ่ง - โท - สาม - สี่" + ๖๖ ๓๒ ๒๑ - ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสประเทศ หก - หก รหัสทางไกล สาม - สอง หมายเลขโทรศัพท์ โท - หนึ่ง หนึ่ง - โท - สาม - สี่"

+ ๖๖ ๑ ๒๒๑ - ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสประเทศ หก - หก รหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ หนึ่ง หมายเลขโทรศัพท์ โท - โท - หนึ่ง หนึ่ง - โท - สาม - สี่"

๒. สรุปหลักการอ่านรหัสไปรษณีย์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย

รหัสไปรษณีย์เป็นกลุ่มตัวเลขที่กำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้ทราบถึงปลายทางของสิ่งของที่ส่งทางไปรษณีย์ และใช้แทนราย ละเอียดของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการคัดแยกและส่งต่อสิ่งของทางไปรษณีย์ไปยังปลายทางให้ทำได้ถูกต้องและรวดเร็ว รหัสไปรษณีย์ประกอบด้วยตัวเลข ๕ ตัว โดยตัวเลข ๒ ตัวแรก ใช้หมายถึงจังหวัด ส่วนตัวเลข ๓ ตัวที่เหลือ หมายถึงที่ทำการไปรษณีย์ เช่น รหัสไปรษณีย์ ๒๒๐๐๐ ตัวเลข "๒๒" หมายถึง จังหวัดจันทบุรี ส่วนเลข "๐๐๐" หมายถึง ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขจันทบุรี ซึ่งรับผิดชอบการนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ในพื้นที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดจันทบุรี การอ่านรหัสไปรษณีย์ที่ถูกต้อง จึงต้องอ่านเรียงกันไป เช่น รหัสไปรษณีย์ ๒๒๐๐๐ อ่านว่า "สอง - สอง - ศูนย์ - ศูนย์ - ศูนย์"
โดย ครูกอล์ฟ

เจ้าฟ้ากุ้ง กวีเอกใน สมัย อยุธยา



สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือขานพระนามกันโดยทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรประสูติ พ.ศ. ๒๒๔๘ ในแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระซึ่งเป็นพระปิตุลา (ลุง) ของพระองค์ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ กับกรมหลวงอภัยนุชิต พระมเหสีใหญ่ ทรงมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๒ พระองค์ คือ
พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเอกทัศ(
พระเจ้าเอกทัศน์) และ
พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าดอกเดื่อ (
ขุนหลวงหาวัด)
จลุศักราช ๑๑๐๓ ปีระกา ตรีศก พ.ศ. ๒๒๘๔ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ได้เข้าพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสถิต ที่พระมหาอุปราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงอินทสุดาวดี เมื่อเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและ พระองค์ได้เป็นกองการปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดอื่นๆ มากมาย
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์เพราะเหตุที่มีผู้ไปกราบทูลว่าพระองค์ลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม หรือเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งเป็น เจ้าจอมของ พระราชบิดา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงลงพระอาญาเฆี่ยนจนสิ้นพระชนม์พร้อมด้วยเจ้าฟ้าสังวาลย์ แล้วนำพระศพไปฝังยังวัดไชยวัฒนาราม
ผลงานด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้นั้นจัดเป็นวรรณกรรมอันเลอค่า โดยเฉพาะคำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงดูจะมีมากกว่างานพระนิพนธ์ชนิดอื่น ๆ งานนิพนธ์ที่เหลือจนบัดนี้มีที่รวบรวมได้ดังนี้
๑.
กาพย์เห่เรือ
๒. บทเห่เรื่องกากี ๓ ตอน
๓. บทเห่สังวาสและเห่ครวญอย่างละบท
๔. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
๕. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง
๖.
นันโทปนันทสูตรคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๒๗๙ ขณะทรงผนวช
๗.
พระมาลัยคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๒๘๐ ขณะทรงผนวช
๘. เพลงยาวบางบท

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

การวิเคราะห์เรื่องสั้น


เรื่องสั้น “นกเขาเถื่อน” เป็นผลงานของ วรภ วรภา ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารช่อการะเกด เมื่อปี พ.ศ.2536 “นกเขาเถื่อน” เป็นเรื่องของเด็กชายสืบธงนักเรียนชั้น ป.6 ถูกครูในโรงเรียนกล่าวหาว่าขโมยนกเขาที่ครูคนหนึ่งลี้ยงไว้ แม้เขาจะปฏิเสธอย่างไรก็ตาม ครูก็ไม่เชื่อ เด็กชายถูกข่มขู่จากครูและกำนันให้ยอมรับและสัญญาจะไม่เอาโทษ เขาถูกครูกดดันอย่างหนักจนในที่สุดเขาก็จำต้องยอมรับถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นคนขโมยก็ตาม ผลของการยอมรับผิดทำให้เขาถูกครูลงโทษด้วยการเฆี่ยนหกที แต่ครูเฆี่ยนได้สามทีก็ต้องหยุดเพราะเด็กชายทนเจ็บไม่ไหว และจะรอรับโทษที่เหลือในวันรุ่งขึ้น แต่วันต่อมาครูในโรงเรียนก็รู้ความจริงว่าเด็กชายสืบธงไม่ได้เป็นคนขโมยนกเขา แต่กลับเป็นเด็กชั้น ป.4 เป็นคนยิงนกเขาที่ครูเลี้ยงไว้ สร้างความกดดันให้ครูที่ลงโทษเด็กชายไปแล้วแต่ไม่กล้ากลับมาเผชิญหน้ากับเด็กชาย พอ ๆ กับเด็กชายรู้สึกกดดันที่ครูเงียบไปไม่กล้าออกมาพูดกับเขาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นรวมทั้งเรื่องการลงโทษอีกเลย
เรื่องสั้นเรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยการสร้างความสนใจใคร่รู้ให้เกิดขึ้นกับผู้อ่านด้วยการบรรยายถึงเสียงนกเขาเถื่อนขัน แต่แทนที่เสียงอันไพเราะของนกเขาจะสร้างความรู้สึกที่น่าพึงพอใจแต่กลับก่อให้เกิดความรู้สึกคล้ายเสียงเยาะหยันกับชะตากรรมที่ตัวละครกำลังจะได้รับ เรื่อง “นกเขาเถื่อน”มีการดำเนินเรื่องตามลำดับปฏิทิน ผู้เขียนให้ตัวละครเอกคือ สืบธงเป็นผู้เล่าเรื่องโดยใช้สรรพนาม “ผม” ปมปัญหาของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อครูนทีกล่าวโทษเด็กชายสืบธงว่าเป็นผู้ขโมยนกเขาที่ครูเลี้ยงไว้ โดยมีพยานคือเด็กนักเรียนชั้น ป.1 เห็นเด็กชายสืบธงเข้าไปในเรือนเพาะชำของโรงเรียนที่ครูนทีแขวนกรงนกเขาไว้ แต่เขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ ความกดดันเริ่มเกิดกับเด็กชายมากขึ้นเมื่อครูนทีบอกกับเขาว่าถ้าไม่ยอมรับผิดจะทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองและกำนันถึงความผิดที่เขาได้ทำลงไป และเมื่อครูนทีไปรับกำนันมาที่โรงเรียนเพื่อช่วยสอบสวน เด็กชายก็ถูกกดดันเพิ่มมาขึ้นอีกเมื่อกำนันพูดถึงข้อหาเดิม ๆ ที่เขาเคยก่อไว้โดยไม่ตั้งใจ และหลายเรื่องก็เป็นอุบัติเหตุที่เขาเคยชี้แจงไปแล้ว แต่ดูเหมือนความผิดเหล่านั้นจะติดตัวเขาไปตลอด ในที่สุดด้วยความเหนื่อยบวกกับปวดท้องเพราะหิวจนไส้แทบขาด เนื่องจากเขาถูกกักตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง อีกทั้งครูบอกจะไม่ลงโทษถ้าเขายอมรับผิด เด็กชายจึงตัดสินใจยอมรับว่าเขาเป็นคนขโมย ครูไม่ลงโทษเขาทางกฎหมายแต่ลงโทษด้วยการเฆี่ยนหกที ทำให้เขาเกิดความรู้สึกเจ็บและอายในความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ และรอรับการลงโทษที่เหลือในวันรุ่งขึ้น จุดวิกฤตของเรื่องคือในวันรุ่งขึ้น ที่ครูนทีรู้ว่าคนที่ขโมยนกเขาของครูไม่ใช่เด็กชายสืบธง แต่เป็นดำริเด็กนักเรียนชั้น ป.4 อีกคนหนึ่งที่วันนี้ไม่มาโรงเรียน และครูประจำชั้นได้สอบถามถึงสาเหตุ เพื่อนของดำริจึงเล่าให้ครูฟังว่าดำริจับนกเขาได้ และวันนี้กำลังจะลงมือฆ่านกตัวนั้น เมื่อครูนทีไปดูจึงรู้ว่าเป็นนกเขาตัวที่ครูลี้ยงไว้นั่นเอง เรื่องจึงคลี่คลายเมื่อทุกคนรู้ว่าสืบธงไม่ได้ทำผิด แต่ตอนจบเรื่องผู้อ่านจะรู้สึกว่าครูนทีอาจจะรู้สึกผิดในสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไป จึงไม่กล้ามาสู้หน้าสืบธง เด็กนักเรียนตัวเล็ก ๆ ที่ครูกล่าวโทษและปรักปรำว่าเขาเป็นคนผิดตั้งแต่ต้น
แนวคิดของเรื่อสั้นเรื่องนี้ ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่า การกล่าวโทษใครคนใดคนหนึ่งต้องทำด้วยความรอบคอบ มีสติ มีเหตุผลและมีหลักฐานที่แน่นหนา เพราะถ้าผู้ที่ถูกกล่าวโทษไม่ได้ทำผิดจริง สิ่งนั้นจะเปรียบเสมือนตราบาปที่ติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิตและในทางกลับกันอาจจะสร้างความรู้สึกผิดและละอายให้กับผู้กล่าวโทษด้วย แนวคิดของเรื่องนี้สื่อผ่านการเปรียบเทียบระหว่างนกเขากับเด็กชายสืบธง ด้วยความตั้งใจของผู้เขียนมาโดยตลอด เช่น ตอนที่ครูนทีพากำนันมาช่วยสอบสวน
“...ผมรู้ตัวว่ายิ่งเวลาผ่านไป ทุกส่วนของผมยิ่งฝ่อเล็กลง ๆ ท่าทางของผมคงเหมือนกับนกเขาที่เป็นโรคอย่างหนัก ได้แต่ยืนเกาะคอนเซื่องซึม คอตกห้อย ดวงตาปรือปิด ขนยุ่งเป็นกระเซิงและไม่มีเรี่ยวแรงจะแผ่วเสียงคูให้ได้ยิน...”
หรือตอนที่กำนันพูดถึงข้อหาที่เขาเคยกระทำมาก่อน ความรู้สึกของเขาผู้เขียนได้เปรียบเทียบดังนี้
“...ผมรู้สึกเหมือนเป็นนกเขาที่ถูกต้อนเข้ามุมอับในกรงเล็ก ๆ แล้วมีมือใหญ่มหึมาเอื้อมเข้ามาบีบเค้น บีบจนไส้ของผมเจ็บปวดแทบขาดจากกัน บีบจนรวดร้าวไปทั้งตัว...”
เมื่อเขาถูกครูลงโทษด้วยการเฆี่ยน ผู้เขียนบรรยายว่า
“...ผมสะดุ้ง แอ่นร่างด้วยความเจ็บแสบ นกเขาของผมปีกหักทันที”
และในตอนสุดท้ายเมื่อครูนทีรู้ความจริงว่าสืบธงไม่ได้ทำผิด แต่เมื่อลงโทษไปแล้วคงรู้สึกละอาย ไม่กล้าออกมาคลี่คลายเรื่องทั้งหมด ผู้เขียนบรรยายว่า
“...ขณะนี้ในหัวใจของผมหนักอึ้ง อึดอัด กระวนกระวาย ผมไม่รู้ว่าเวลานกเขาถูกขังอยู่ในกรงมันจะรู้สึกอย่างไรแต่ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนกับมีซี่ลูกกรงสานถี่ ๆ มากักอยู่โดยรอบตัวผม ผมไม่สามารถเล็ดรอดออกไปได้...”
การสื่อแนวคิดด้วยการเปรียบเทียบสืบธงกับนกเขาในหลาย ๆ ตอนผู้เขียนอาจต้องการเปรียบเทียบให้เห็นว่าสืบธงไม่ได้ทำผิดแต่ถูกปรักปรำจนต้องยอมรับ เพราะอยู่ในสถานภาพที่เป็นเบี้ยล่าง เหมือนกับนกเขาที่ครูเลี้ยงไว้ ไม่มีปากไม่มีเสียงแต่ก็ต้องถูกฆ่าตายด้วยความคึกคะนองของเด็ก
ทางด้านตัวละคร ตัวละครเอกในเรื่องนี้คือ “สืบธง” ผู้เขียนไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับภูมิหลังของสืบธงมากนัก ผู้อ่านจะทราบเพียงว่าเขาเป็นเด็กนักเรียนชั้น ป.6 สืบธงเป็นตัวละครที่สมจริง ด้วยความเป็นเด็กเขาเคยทำผิดมาก่อน แต่เมื่อทำผิดทุกครั้งเขาก็ยอมรับ แต่การที่ครูกล่าวหาเขาขโมยนกเขาที่ครูเลี้ยงไว้ เมื่อเขาไม่ได้ทำ เขาจึงไม่ยอมรับ แต่ด้วยความเป็นเด็กที่ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้เขาต้องตัดสินใจรับผิดทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เป็นคนก่อขึ้น คิดเพียงตื้น ๆว่า ถ้ารับผิดเรื่องจะได้จบ เพราะครูสัญญาว่าจะไม่ลงโทษ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เขาถูกลงโทษเจ็บทั้งกายเจ็บทั้งใจ แต่เขาไม่มีความโกรธขึ้งครู ไม่คิดจะแก้แค้นแม้เขาจะมีโอกาส เช่น ในตอนที่เขาพาครูไปเพื่อชี้ที่ซ่อนกรงนก เพราะถูกครูบังคับให้ไป ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เอากรงมาซ่อนก็ตาม เขาคิดว่า
“...ถ้าผมคิดจะแก้แค้นในขณะนี้ดูง่ายนักหนา เพียงแต่ผมพาครูมุดซุ้มหนามหรือไม่ก็หลอกให้ครูเข้าไปหากรงนกในดงมดแดงเท่านี้ ครูนทีก็จะเจ็บปวดอีกนาน แต่ไม่หรอก ผมทำบาปอย่างนั้นไม่ได้ ครูนทีเป็นครูของผม มีพระคุณต่อผม ผมจะเนรคุณครูไม่ได้...”
หรือตอนที่สืบธงรู้ว่านกเขาที่ครูลี้ยงไว้ถูกเด็กนักเรียนคนอื่นฆ่าตาย เขากลับนึกสงสารครูนที
“...ผมสงสารครูนทีเหลือเกิน ครูอุตส่าห์เลี้ยงมันมาอย่างทะนุถนอม อุตส่าห์ดูแลมันอย่างดี ดำริทำให้ครูต้องสูญเงินเป็นหมื่น ๆ ทีเดียว...”
และถึงแม้สืบธงจะเป็นเด็ก แต่เขาก็มีความเป็นลูกผู้ชาย พยายามจะเข้มแข็งไม่ร้องไห้ต่อหน้าครูและคนอื่น ๆ
“...น้ำอุ่น ๆ ไหลผ่านแก้มหยดลงบนเสื้อนักเรียน มันเป็นน้ำเหงื่อหรือว่าน้ำตากันแน่ ไม่หรอก ลูกผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ ผมรับโทษมาจนชินแล้ว อีกสักครั้งก็ไม่เป็นไรหรอก อย่าร้องไห้ซิ.....
คงเป็นน้ำเหงื่อมากกว่า ห้องนี้ร้อนเหลือเกิน...” แต่ด้วยความเป็นเด็ก ในที่สุดเขาก็ไม่สามารถกลั้นน้ำตาแห่งความเจ็บปวดได้
“...ถ้าเป็นที่บ้านผมคงทุ่มตัวลงกลิ้งเกลือกและตะเบ็งเสียงโฮๆ ออกมาแล้ว แต่นี่เป็นโรงเรียน ผมไม่อาจทำอย่างนั้นได้ ผมกัดฟันกลั้นเสียงร้องไม่ให้หลุดออกมา หากดูจะได้ผลน้อยซะเหลือเกิน จนในที่สุดผมก็ละทิ้งความอาย สะอื้นฮัก ๆ ต่อหน้าครูทุกคน...”
การบรรยายฉาก ฉากในเรื่องสั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท ถึงแม้ฉากจะน้อย แต่บางตอนผู้เขียนบรรยายอย่างละเอียดให้ผู้อ่านมองเห็นภาพ เช่น ฉากในห้องพยาบาลใกล้ห้องพักครูที่สืบธงถูกกักบริเวณไว้ ผู้เขียนบรรยายดังนี้
“...ห้องนี้เป็นห้องพยาบาลเล็ก ๆ ซึ่งถูกกั้นแบ่งมาจากห้องพักครู ด้านหน้ามีผ้าม่านสีมอ ๆ แบ่งส่วนกับหมู่โต๊ะครู ตั้งฉากกับตู้เอกสารสามใบซึ่งกั้นเป็นฝาข้างโต๊ะอาจารย์ใหญ่ สองด้านที่เหลือเป็นฝาผนังของอาคารเรียน มีหน้าต่างด้านละสองบาน ภายในห้องวางเตียงพยาบาลขนานกันสองเตียง ผ้าปูเตียงกระดำกระด่างคราบสกปรก...”
ทางด้านบทสนทนา บทสนทนาในเรื่องสั้นเรื่องนี้ส่วนมากเป็นบทสนทนาเพื่อช่วยในการดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ครูนทีสอบสวนสืบธงและคาดคั้นให้เขายอมรับผิด ตอนที่สืบธงยอมรับผิด หรือตอนครูลงโทษสืบธง จะมีบทสนทนาสลับไปกับการบรรยายทำให้เรื่องดำเนินต่อไปโดยไม่น่าเบื่อ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าคำพูดของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นครูนที หรือกำนันบางตอน เป็นคำพูดที่เพิ่ม “มูลค่า”ให้กับนกเขาที่หายไปมากกว่าความเป็นจริง อาจเพื่อต้องการให้สืบธงมองเห็นความผิด(ที่คนทั้งสองคิดว่าเขาทำ)ให้ดูร้ายแรงและมีโทษหนักมากยิ่งขึ้น เช่น
“นกเขาตัวนั้นเป็นทรัพย์สินของครู เมื่อเธอเอาไปก็เท่ากับว่าเธอขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ผิดทั้งทางศีลธรรมและกฎหมาย เธอรู้มั้ยว่านกเขาตัวนั้นถ้าครูเอาไปขายต้องได้ราคาอย่างน้อยสามสี่พันบาท นี่ถ้าเป็นของคนอื่นเธอต้องถูกจับส่งตำรวจอย่างแน่นอน”
หรือจากคำพูดของกำนัน
กำนันเดินเข้ามาจับไหล่ผม “เธอรู้ไหมว่านกเขาดี ๆ ยังงั้นถ้าส่งเข้าประกวดต้องชนะเลิศ แน่ ๆ ได้เงินรางวัลเป็นหมื่นเชียวนะ เธอทำให้ครูนทีสูญเงินเป็นหมื่นเชียว”
แต่ในที่สุด “มูลค่า” ที่แท้จริงของนกตัวนี้ก็เปิดเผยจากคำพูดของครูนทีเอง
“สงสัยคนตัดยางมาเจอเลยเอาไป บ้าชิบ ราคาตั้งเกือบพัน”
ทางด้านลีลาการใช้ภาษา ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย โดยการใช้ประโยคสั้นกระชับ การเลือกสรรคำบางตอนสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้ผู้อ่าน เช่น
“...เหงื่อย้อยเข้าตาจนแสบปร่าแล้วไหลผ่านลงมาตามร่องแก้ม รู้สึกอุ่นเป็นทางไม่ผิดกับตอนน้ำตาไหลเลย
...หรือมันจะเป็นน้ำตาจริง ๆ
ครูนทีปล่อยให้ผมนั่งอยู่ในห้องนั้นคนเดียว มันทำให้ผมเงียบเหงาทั้ง ๆ ที่ด้านตรงข้ามยังคงเซ็งแซ่ด้วยเสียงคุย เสียงเลื่อนเก้าอี้และเสียงพิมพ์ดีดของครู
ความเหงามันคงไหลมาจากหัวใจมันจึงเหงาได้เพียงนี้
เวลาเคลื่อนผ่านไปช้า ๆ ค่อย ๆ กัดเซาะหัวใจของผมทีละน้อย ๆ ......”
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกของเด็กเล็ก ๆ ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาที่ร้ายแรง ความอ้างว้างโดดเดี่ยวที่จะต้องต่อสู้กับเรื่องที่เกิดขึ้นตามลำพังทำให้เกิดความหว้าเหว่ เหงาลึก
“...ผมติดค้างครูนทีอยู่อีก 3 ที ก้นของผมไม่สามารถรับไม้เรียวที่ครูหวดลงมาสุดแรงได้ แต่ละทีที่ครูฟาดมันลงมาทำให้ผมแสนจะเจ็บปวดรวดร้าว เจ็บจนผมลืมความแสบหิวในท้องเสียหมด แรงฟาดสามทีที่ซ้ำซ้อนลงบนบริเวณใกล้เคียงกันทำให้ก้นของผมบวมช้ำ จนแค่เอามือลูบผ่านก็เจ็บสะท้านถึงในอกทีเดียว...”
เป็นตัวอย่างของการใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่สามารถเข้าถึงความรู้สึกเจ็บปวดทางกายของตัวละครได้ชัดเจน
นอกจากนี้ในบางตอนมีการใช้ภาษาในเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะที่เป็นปรพากย์เพื่อต้องการสื่อนัยยะบางอย่าง เช่น
...ผมนั่งงองุ้ม มือทั้งสองกดท้องด้วยหวังว่าถ้ามันแบนแฟบ อาจจะช่วยทำให้คลายความหิวลงได้บ้าง ร่างของผมหดสั้นลงกว่าเดิม ในขณะที่ครูนทีและกำนันดูสูงใหญ่ขึ้นทุกที
คำว่า “หดสั้น” ในที่นี้หมายถึง ความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในสถานภาพที่เป็นรองและตกอยู่ในความกลัวเกรงการถูกคุกคาม
คำว่า “สูงใหญ่” หมายถึง กิริยาอาการของผู้ที่เหนือกว่าในทุก ๆ ด้าน การใช้ภาษาที่ต้องตีความในบางตอนจะสร้างอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าการบรรยายอย่างตรงไปตรงมา

เรื่องสั้นเรื่อง”นกเขาเถื่อน” สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันดูจะเป็นสังคมแห่งการ “กล่าวโทษ” โดยขาดวิจารณญาณและเหตุผล ยึดเอาความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งผลอาจก่อให้เกิดความผิดทางใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าคนในสังคมมีใจเป็นธรรม ไม่ด่วนตัดสินใครคนใดคนหนึ่งว่าเขาเป็นผู้ผิดเสียตั้งแต่ต้น สังคมไทยก็คงเป็นสังคมที่มีแต่ความเอื้ออาทรและคนในสังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

-------------------------

วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ศรีปราชญ์


ตามหลักฐานทางประวัตศาสตร์พบว่า ศรีปราชญ์นี้เป็นเรื่องจริง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ( พ.ศ.2199 - 2231) กล่าวกันว่าราชสำนักของพระองค์กลายเป็นศูนย์รวมของกวีมากมาย แม้แต่พระองค์เองก็ทรงนิพนธ์งานกวีเกี่ยวกับประวัติวรรณคดีไทย และทรงโปรดปรานงานด้านวรรณกรรมมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะสร้างสรรค์โดยกวีเอกของพระองค์ เช่น พระมหาราชครู พระโหราธิบดี และศรีปราชญ์ สันนิษฐานว่า ศรีปราชญ์ คงจะเกิดในปี พ.ศ.2196 หรือ 3 ปี หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้น ครองราชย์แทนพระเจ้าศรีสุธรรมราชา ผู้ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเจ้าอาของพระองค์ศรีปราชญ์ไม่ใช่ชื่อจริงของท่านหากแต่เป็นพระราชทินนามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทาน ให้เป็นการตอบแทนความดีความชอบในด้านงานกวี ชื่อจริงนั้นไม่ปรากฏ ทราบแต่เพียงว่าท่าเป็นบุตรชายของพระโหราธิบดีผู้ซึ่งแต่งหนังสือเล่มแรกที่ชื่อว่า “ จินดามณี ” หนังสือเล่มนี้สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับส่งให้แต่งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของวัฒนธรรมฝรั่งเศส ศรีปราชญ์ได้รับอิทธิพลทางด้านกวีจากบิดา ดังนั้นจึงส่อแววว่ามีปฏิภาณด้านกวีตั้งแต่ยังเด็ก ในคืน วันหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงนิพนธ์โคลงอันไพเราะขึ้น 2 บท แต่ไม่ทันจะทรงนิพนธ์ต่อให้จบบท ด้วยมีพระราชภารกิจด่วนเข้ามาแทรกเสียก่อน จึงโปรดให้พระโหราธิบดีนำเอาไปแต่งต่ออีก 2 บาท เพื่อให้จบสมบูรณ์หนึ่งบท แล้วกลับมาให้พระองค์ในวันรุ่งขึ้น
พระโหราธิบดี พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อแต่งโคลงอันไพเราะนั้นให้จบ แต่ทุกครั้งที่พยายามก็คิด ไม่ออก ดังนั้นท่านจึงทิ้งไว้อย่างนั้นก่อนแล้วไปรับประทานอาหารเช้าตามปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อท่านจะนำมา แต่งต่อ ปรากฏว่าอีก 2 บาทสุดท้ายนั้นได้มีผู้เขียนต่อให้แล้ว ท่านประหลาดใจมากและถามหาผู้ที่แต่งต่ออีก 2 บาทนั้นซึ่งไพเราะมากเช่นกัน
หลังจากทราบความจริง ท่านก็แอบชมความฉลาดของบุตรชายอยู่ในใจ และคิดว่าบุตรของท่านจะมี อนาคตที่ดี หลังจากได้รับโคลงจากพระโหราธิบดีแล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงพอพระทัยมาก แต่ ก็ทรงทราบได้ทันทีว่า 2 บาทหลังนั้นไม่น่าจะแต่งโดยคนแก่อย่างเช่นพระโหราธิบดี ดังนั้นพระองค์จึงตรัส ถามความจริง และหลังจากได้ทรงทราบความจริง ก็ทรงระแวงว่าลูกชายของพระโหราธิบดีผู้นี้ อาจจะมีอะไร ละลาบละล้วงแอบแฝงกับสตรีฝ่ายใน จึงตรัสถามว่าบุตรชายของพระโหราธิบดีอายุเท่าไร และก็ต้องทรง ประหลาดใจเมื่อได้รับการกราบทูลให้ทรงทราบว่า เด็กคนนั้นมีอายุเพียง 9 ขวบเท่านั้นเอง พระองค์จึงเรียก ตัวศรีปราชญ์เข้าเฝ้าในทันที แล้วทรงแต่งตั้งให้ทำงานในราชสำนักเหมือนบิดาของตน และถึงแม้ว่า พระโหราธิบดี จะมีความถาคภูมิใจกับอนาคตอันสดใสของบุตรชาย แต่ท่านก็ยังวิตกกังวลว่าในอนาคต ศรีปราชญ์อาจจะเผลอไผลจนกระทบกระเทือกพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์ หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ท่านอื่น ๆ ก็ได้ด้วยความทระนงในความฉลาดของตน ศรีปราชญ์อาจจะหลงตนเองก็เป็นได้ ดังนั้น พระโหราธิบดีจึงกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ขอให้โปรดพระราชทานอภัยโทษไว้ถ้าหากว่าจะต้องราชทัณฑ์ ถึงประหารชีวิตขอให้พิจารณาลดหย่อนเพียงเนรเทศเท่านั้น พระองค์ก็ทรงยินยอม และให้การเลี้ยงดูดุจดังพระโอรส หลังจากรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาพอสมควรท่านก็ได้รับพระราชทินนามว่า “ ศรีปราชญ์ ” เป็นรางวัลสำหรับผลงานด้านกวีที่ยอดเยี่ยม
เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานชื่อเสียงของศรีปราชญ์ก็โด่งดังไปทั่วราชอาณาจักร และตามวิสัยของคนหนุ่มย่อมหนีความรักไปไม่พ้น และในฝ่ายในเองก็มีหญิงสาวเป็นจำนวนมากที่รับใช้ พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ และบางคนก็เป็นที่ต้องตาต้องใจของศรีปราชญ์ เมื่อเป็นที่ไว้วางพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ ศรีปราชญ์สามารถเข้านอกออกในได้โดยสะดวก และด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสเกี๊ยวพาราสีพระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ นามว่า“ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ”
อันว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นเป็นสตรีที่มีหน้าตางดงามยิ่งนักเป็นที่สบพระราชหฤทัยแก่ สมเด็จพระนารายณ์ ศรีปราชญ์ก็ชอบนางอยู่แม้จะรู้ตัวดีว่าใครก็ตามที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระสนมของพระมหากษัตริย์จะมีโทษถึงประหารชีวิต ศรีปราชญ์ได้แต่งโคลงเกี๊ยวพาราสีนางโดยที่ไม่ทราบว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นมีการติดต่อฉันชู้สาวกับพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ภายหลังนางเกิดตั้งครรภ์ สมเด็จนารายณ์ทรงกริ้วมากและรับสั่งให้สำเร็จโทษตามกฎมนเทียรบาล
และถึงแม้ว่าศรีปราชญ์จะไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาง แต่ก็แสดงความประพฤติอันไม่เหมาะสมต่อพระสนมของพระมหากษัตริย์ โดยการเขียนโคลงเกี๊ยวพาราสีนางความประพฤติของศรีปราชญ์เป็นการล่วงละเมิดกฎมนเทียรบาล ซึ่งห้ามการกระทำเช่นนั้นและผู้ล่วงละเมิดจะต้องมีโทษถึงประหารชีวิต ศรีปราชญ์เองไม่ต้องโทษประหารก็เพราะว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้แก่ พระโหราธิบดี แต่ศรีปราชญ์เองก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงโทษสถานเบาไปได้ศรีปราชญ์จึงถูกเนรเทศจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังเมืองนครศรีธรรมราชที่ซึ่งเขาสามารถแสดงทักษะด้านกวีได้อีกเช่นกัน เพราะว่าท่านเจ้าเมืองเองก็มีใจชอบด้านกวีอยู่แล้ว และด้วยความเป็นอัจฉริยะของศรีปราชญ์นี้เองที่ทำให้ท่านเจ้าเมืองโปรดปรานเขา แต่โชคร้ายที่ศรีปราชญ์ตอบแทนไมตรีจิตนี้ด้วยการไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับภรรยาน้อยของท่านเจ้าเมืองเข้า ท่านเจ้าเมืองโกรธมากและหึงหวงภรรยาน้อย จึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง และก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหาร ศรีปราชญ์ได้ขออนุญาตเขียน


โคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า
ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง


ในขณะที่ถูกประหารนั้นศรีปราชญ์มีอายุประมาณ 30 หรือ 35 ปี ได้ข่าวการประหารศรีปราชญ์ แพร่ไปถึงพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ผู้ซึ่งใคร่จะเรียกตัวศรีปราชญ์มาใช้งานในเมืองหลวงพระองค์ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนคร ฯ ผู้ซึ่งกระทำการโดยปราศจากความเห็นชอบของพระองค์ และเมื่อพระองค์ได้ทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์จึงมีพระบรมราชโองการให้นำเอาดาบที่เจ้าพระยานคร ฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์แล้วนั้นนำมาประหารชีวิตเจ้านคร ฯ ให้ตายตกไปตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ ดาบนี้คืนสนอง ”
แง่คิด : กรรมใดใครก่อก็ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น

สนามบินสุวรรณภูมิ กับภาษาไทย


ขอบันทึกความไพเราะงดงามทางวรรณศิลป์ว่า ก่อนการเปิดใช้สนามบิน สุวรรณภูมิŽ (นามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) นั้น ผู้เขียนทราบว่า มีการประกวดกลอนสดุดี ชิงรางวัลเงิน...บาท (กรรมการยังได้รับค่าเหนื่อยที่ตรวจสำนวนกลอนประมาณ...สำนวน เป็นเศษ ๑ ส่วน...ของผู้ได้รับรางวัล) ปรากฏว่าสำนวนของผู้มีนามว่า รัชตา อารักษ์สมบูรณ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งนับว่าสำนวนนี้ไพเราะ มีความงามทางวรรณศิลป์แทบสมบูรณ์ทีเดียว
คือประตูสู่สากลบนพิภพ
คือระบบสิ่งสร้างสรรค์ทันสมัยคือศูนย์กลางระหว่างแคว้นแดนใกล้ไกล
คือปัจจัยการเดินทางอย่างงดงามคือทิพย์ท่าอากาศยานโอฬารลักษณ์
คือเกียรติศักดิ์แห่งประเทศเขตสยามคือแผ่นดินถิ่นทองเรืองรองนาม
คือสนามบินสุวรรณภูมิ
ในฐานะคนที่เขียนกลอนได้และอ่านกลอนเป็น ผู้เขียนยอมรับว่าเป็นบทกลอนที่สามารถอวดชาวโลกให้อยากมาชมสนามบินแห่งนี้ และน่าจะเป็นผลงานการร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญของชาติที่น่าจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ น่าเสียดายผลงานการจัดสร้างที่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะอะไรประชาชนชาวไทยคงได้แต่เสียดายโอกาสอันไม่หวนกลับมาอีกแล้ว มองในฐานะนักสังเกตการณ์ (ยามภาษา อิสระ) ในด้านพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสก็จะเห็นว่า มหกรรมการตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดแก่สุวรรณภูมิ ทำให้คนไทยคุ้นกับศัพท์ต่างๆที่โดยทั่วไปเราไม่ค่อยคุ้น เช่น

รันเวย์ (Run Way) ลานวิ่ง ทางขึ้นและลงสำหรับเครื่องบินวิ่งก่อนดันตัวขึ้นสู่อากาศหรือลงมาสู่ผิวพื้นดิน (นอกเหนือจากความหมายทั่วไปที่ว่า ทางหนี ทางเดิน ทางเดินของสัตว์ป่า หรือลำน้ำ)

แท็กซี่ เวย์ (Taxi Way) ทางที่เครื่องบินเคลื่อนตัวไปตามลานบินหรือบนน้ำก่อนเข้าสู่ทางวิ่งหรือรันเวย์ หรือทางที่เครื่องบินเคลื่อนเข้าสู่ที่จอดส่งผู้โดยสาร หลังจากลงสู่สนามบินแล้ว (นี่คือความหมายตามความเข้าใจของผู้อ่านข่าวอย่าง สุดสงวน)

ฮับ (Hub) จุดศูนย์กลาง ศูนย์กลางของกิจกรรม (นอกจากความหมายทั่วไปว่า ดุมล้อ)ดูอัล แอร์พอร์ต (Dual Airport) การมีสนามบินนานาชาติคู่กัน ๒ สนาม ในเมืองเดียวกัน (เช่น กรุงลอนดอน ใช้ลอนดอน แอร์พอร์ต คู่กับ ฮีธ โรว์ แอร์พอร์ต แทนที่จะเป็นแห่งเดียว (Single Airport)

ทัชดาวน์ (Touch Down) จุดที่เครื่องบินลงแตะรันเวย์ (ส่วน touchdown นอกจากหมายถึง การบินลงแตะพื้นŽ แล้ว ความหมายโดยทั่วไป ใช้กับกีฬาอเมริกันฟุตบอล เมื่อนักกีฬานำลูกฟุตบอลถึงหรือเลยเส้นประตู จะได้คะแนน ๖ แต้ม หรือในกีฬารักบี้ เมื่อนักกีฬานำลูกรักบี้แตะพื้นในเส้นใน หรือ)
เทคออฟ (Takeoff) จุดที่เครื่องบินจะเร่งเครื่องทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า (โดยทั่วไปหมายถึง การบินขึ้น การเลียนแบบ จุดเริ่มต้น การประเมิน การหยิบเอาไป) แต่ถ้าเป็น Take Off ก็หมายถึง ขจัด จากไป ถอนออก ทำสำเนา ถ่ายสำเนา ลดส่วน หรือฆ่า)นี่คือความรู้ส่วนหนึ่งที่ได้มาจากการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ ความจริงนั้นยังมีคำที่นำไปสู่ความรู้อีกมาก หากเรารู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสแบบสุดสุด