ตะลอนทัวร์คลอดทริปใหม่

ปีใหม่นี้ จะฉลองปีใหม่กันที่ไหน ที่แน่แน่ พวกสมาชิกตะลอนทัวร์เตรียมเก็บกระเป๋ากันได้แล้ว เมื่อครั้งก่อนไปเที่ยวคลองวาฬ ข้าน้อยทำผิดอย่างแรงทิ้ง สองป้าให้เดินหลงทางกลับที่พัก ใครจะไปคิดล่ะว่า ไอ้แค่ 200 ม.ตรง ๆ ท่านพี่จะหลงทาง ก็ประสบการณ์ย่ำมาแล้วรอบโลก ก็น่าจะไม่หลง แต่ผิดครับหลงครับท่าน ได้ข่าวว่าคราวนี้ จะหอบหิ้วเอาผู้อำนวยการโรงเรียนไปหลงอีกคน นี่ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พากันหลงเหมือนเมื่อคราวก่อน สงสัยต้องเตรียมหางานใหม่กันได้เลย เรียกว่ากลับมาตัวใครตัวมัน ฮิฮิฮิ มีต่อ

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

หนังสือดี ในความทรง จำ

จำได้หรือเปล่า

ภาพของ 'ครูไหวใจร้าย' หรือครูฅนใดก็ตามที่ถูกต่อท้ายชื่อด้วยคำว่า 'ใจร้าย' อาจหาได้ยากในยุคสมัยที่ระบบการศึกษาพัฒนามาถึงปัจจุบัน แต่เรื่องที่จะปรากฏต่อไปนี้ เคยเกิดขึ้นแก่เด็กหลายฅน แม้เหตุการณ์จะไม่เหมือนกันทุกแง่มุมก็ตาม
สำหรับผู้อ่านที่ผ่านวัยเด็กมานานจนมีลูกมีหลานไปแล้ว เรื่องนี้อาจทำให้ระลึกถึงความหลัง คิดถึงครูบางฅนที่เข้มงวดกวดขัน ซึ่งบางทีก็ไม่เข้าท่าในสายตาของเด็ก ทว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นมานานหลายสิบปี จนถึงบัดนี้ ความรู้สึกในวัยเด็กอาจเปลี่ยนไป กลายเป็นนึกรักครูที่เข้มงวดฅนนั้นขึ้นมาก็ได้
และสำหรับฅนในยุคนี้ที่ไม่มีโอกาสพบความตื่นเต้น (เพราะคงไม่มีครูฅนไหนดุและเอาจริงเอาจังดังเช่นในยุคก่อน) ก็อาจบอกตัวเองว่า 'โชคดีที่ไม่ได้เกิดในยุคนั้น' แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งแล้ว น่าจะพูดได้ว่า 'เสียดายที่พลาดเหตุการณ์สำคัญไป'
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ 'ครูไหวใจร้าย' และตัวละครอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คงจะช่วยให้ผู้อ่านระลึกนึกถึง 'สิ่งดีๆ' ได้บ้าง
เรื่องย่อ โรงเรียนดรุณรักษ์ เป็นโรงเรียนที่คนในอำเภอกิ่งจันทร์แดง ล้วนแต่เคยผ่านช่วงชีวิตในวัยเรียนกันมาทุกคนแล้ว และคุณครูเจ้าระเบียบแห่งโรงเรียนดรุณรักษ์ ที่ไม่มีใครในอำเภอกิ่งจันทร์แดงไม่รู้จัก และยังเป็นที่ขนานนามคือ “นางสาวไสว แสงตะวัน” หรือ “ครูไหว” ที่ใครต่อใครต่างให้ฉายานามไว้ว่า “ครูไหวใจร้าย” ซึ่งปัจจุบันนี้ อายุอานามของครูไหวก็ปาเข้าไปเกือบ 70 ปีแล้ว ชื่อเสียงของครูไหว เป็นที่โจษจันเป็นอย่างมากในเรื่องของความเข้มงวด เจ้าระเบียบ และดุมากเสียจนใครต่อใครในอำเภอกิ่งจันทร์แดงต่างพากันเกรงกลัว แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าในอีกมุมหนึ่งของครูไหว หรือ ครูไหวใจร้าย นั้นเป็นคนที่ใจบุญมากๆ ไม่ฆ่ากระทั่งยุงแม้แต่ตัวเดียว และเมื่อถึงวันพระ ครูไหวจะเป็นคนแรกเสมอที่ไปถึงวัด ครูไหวจะมีกิจวัตรประจำวันที่เที่ยงตรงอยู่ตลอดเวลา ครูไหวจึงกลายเป็นนาฬิกาที่มีชีวิตประของทุกคนในอำเภอไปแล้ว และถ้าวันไหนมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ ที่ทำให้กิจวัตรของครูไหวคลาดเคลื่อน ก็จะส่งผลให้ชีวิตประจำวันของใครต่อใครที่ใช้นาฬิกามีชิวิตครูไหวคลาดเคลื่อนเช่นกันและด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่ครูไหวได้สู้รบปรบมือกับเหล่าลูกศิษย์ตัวแสบ ด้วยการลงโทษแบบต่างที่ไม่ซ้ำแบบ แต่ก็ไม่เคยมีใครที่ได้รับอันตรายจากการลงโทษในแต่ละครั้งเลย และคำร่ำลือเกี่ยวกับความใจร้ายของครูไหวเล่าต่อกันมาตั้งแต่พ่อแม่จนถึงลูกหลาน เด็กๆ จึงพากันหวาดกลัวในความเข้มงวดและวิธีการลงโทษต่างๆ ของครูไหวอาทิเช่นการทำโทษด้วยการล้างปากด้วยสบู่สำหรับเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนหรือพูดจาไม่ดีเป็นต้น จนทำให้เหล่าบรรดาผู้ปกครองลงประชามติว่าครูไหวควรยุติความใจร้ายเสียที จึงเป็นเหตุให้การสู้รบปรบมือกับเหล่านักเรียนและผู้ปกครองเริ่มขึ้นจนวันวันหนึ่งเมื่อครูไหวใจร้ายได้ล้มป่วยลงกะทันหัน ก็ทำให้ทุกคนในอำเภอไม่เป็นอันทำอะไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครชอบครูไหว ผู้ที่ไม่แยแสว่าใครจะรักหรือเกลียด ทำทุกอย่างด้วยความรักและความจริงใจต่อเด็ก แม้กระทั่งละทิ้งความฝันที่จะออกท่องเที่ยวของตัวเอง แต่บัดนี้เมื่อครูไหวล้มป่วยลง ความเงียบเหงาไม่มีชีวิตชีวาเข้าปกคลุมไปทั่วอำเภอ ทำให้ทุกคนรับรู้แล้วว่าในหัวใจทุกคนนั้นต่างรักและเคารพครูไหวมากมายเพียงใด ทุกคนต่างพากันบนบานศาลกล่าวเอาใจช่วยครูไหวเพื่อหวังว่ากำลังใจจากทุกคนจะช่วยให้ครูไหวฟื้น และกลับมาทำให้คนในอำเภอกิ่งจันทร์แดงมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

ประชาธปไตย เป็นฉันใด ?




บทความเรื่อง ประชาธิปไตย เป็นฉันใด ?
โดย อ.ฑลิกา ค้าขาย

การออกมาเรียกร้อง ของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองในช่วงนี้ มีการจัดตั้งกลุ่มในชื่อว่า กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากโรงเรียนสาธิตมัฆวาน แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน การออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว ตามหลักสิทธิตามระบบประชาธิปไตยแล้ว ย่อมทำได้ และหากมองดูอย่างผิวเผิน ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ของชาติ หันมาสนใจเรื่องราวทางด้านการเมือง และมีการรวมกลุ่มเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะหลักการของระบอบการปกครองที่ชื่อว่าประชาธิปไตยนั้น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง
ประเด็นอยู่ที่ว่า นักเรียนกลุ่มนี้ เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ด้วยอุดมการณ์ อันแรงกล้า หรือ ถูกชักจูงเข้าร่วมชุมนุม การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นั้น เป็นปัญหาที่มีนัยยะทางการเมือง ในเบื้องต้น ก็เพียงปิดถนนและเปิดปราศรัย โจมตีรัฐบาล ต่อมาในภายหลัง ได้ยึดทำเนียบ รัฐบาลและมีการปะทะกับกลุ่มที่ต่อต้านพันธมิตรที่มีชื่อว่า นปช. แกนนำของกลุ่มพันธมิตร 9 คนโดยมีหมายจับจากศาลต้องข้อหากบฏ การยึดทำเนียบรัฐบาลนั้น ศาลแพ่งได้ออกคำสั่งให้มีการเลิกการชุมนุมและออกจากทำเนียบ การหยุดเดินรถไฟทางภาคใต้ มีการยึดสนามบิน หาดใหญ่ และภูเก็ต วิธีการต่อสู้เพื่อให้ได้ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตร นั้น มีการละเมิดกฎหมาย และละเมิดคำสั่งศาล อย่างนี้ เป็นสิ่งที่เยาวชนของชาติ ควรสนับสนุนและเอาเป็นแบบอย่างหรือไม่ เป็นการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องหรือเปล่า
“น.ส.ช่อฟ้า มั่นทอง” หัวหน้าพรรคสัจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) ที่ทำกิจกรรมทางการเมืองมาแต่ตั้งแต่ปี 2545 กระทั่งปัจจุบัน เสนอว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือนายกฯ ต้องเสียสละเพื่อประเทศชาติ โดยการลาออก ในขณะที่พันธมิตรฯ หยุดการเรียกร้อง หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และที่สำคัญ กลุ่มนักศึกษาต้องออกมาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่นิ่งเฉยต่อปัญหา หรือเกรงกลัวอำนาจอันไม่ชอบธรรมของผู้ใหญ่ ช่อฟ้า กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเท่าที่ติดตามนั้น เป็นเพียงการเมืองแฟชั่นมากกว่า ไม่ได้ติดตามข่าวสาร หรือรู้เรื่องการเมืองอย่างจริงจัง แต่ที่ต้องออกมาแถลงการณ์ จุดยืน เพื่อไม่ให้คนในสังคมว่าได้ ว่านักศึกษาไม่ได้ทำอะไร เพราะถ้านักศึกษาเข้าใจ หรือสนใจการเมืองอย่างแท้จริง ต้องทราบว่าสถานการณ์อย่างนี้ ควรทำอะไร
ขณะที่ "กอล์ฟ" ชวลิต จันทร์แก้ว นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รัตนโกสินทร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย บอกว่านักศึกษาไม่ได้นิ่งเฉยตอนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การเคลื่อนไหวบางอย่างนักศึกษาทำไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่ตีกรอบไว้ ทั้งๆ ที่ควรเปิดกว้างให้นักศึกษาได้ออกมาแสดงพลังบริสุทธิ์ เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของประเทศชาติ มากกว่าหมกมุ่นการเรียนหนังสืออย่างเดียว
“การเรียนรู้ตำราประชาธิปไตยที่ก่อตัวอยู่ขณะนี้ นักศึกษาได้สัมผัสระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และหากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้ง เชื่อว่านักศึกษาพร้อมใจออกมาเคลื่อนไหว ตามวิธีแนวทางที่ไม่ทำร้ายกัน ตอนนี้เครือข่ายฯ ได้ยื่นแถลงการณ์ต่อรัฐสภา ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นต่อจากนี้ พลังนักศึกษาจะลุกฮือขึ้นมาทันที” ( หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2551)
การต่อสู้ทางการเมืองของเหล่านักเรียนนิสิต นักศึกษาเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรามีเหตุการณ์ การเรียกร้อง ของเหล่านิสิตนักศึกษาในอดีต เช่นกรณี 14 ตุลา ที่มีการต่อต้านระบบเผด็จการทหาร เรียกร้องขอประชาธิปไตย จากรัฐบาลเผด็จการทหาร จนมีการปราบปรามนองเลือด จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีนักศึกษารามคำแหงต้องจบชีวิตลง เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ถามว่าคุ้มหรือไม่ ที่ต้องแลกด้วยชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าว เสมือนดาบสองคมเยาวชนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่าในขณะนี้ทำไมบ้านเมืองจึงมีแต่ความวุ่นวาย
ดังนั้นผู้ปกครองควรจะอธิบาย ให้ลูกเข้าใจถึงความหมายของระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นอย่างไร การสอนด้วยคำพูดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ผู้ปกครองควรเลี้ยงดูโดยเริ่มจากการใช้ระบอบประชาธิปไตยปฏิบัติกันภายในบ้าน เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้และเข้าใจยิ่งขึ้น เช่น การให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือตัดสินใจเลือกในสิ่งที่เขาต้องการ พ่อ แม่ต้องเปิดใจกว้างเมื่อเห็นลูกมีความเห็นที่ต่างไป ควรภูมิใจที่ลูกมีความเห็นของเขาเอง แต่ในการตัดสินใจควรอยู่ในกรอบของสังคม โดยพ่อ แม่เป็นผู้ดูแล สนับสนุน แนะแนวทางลูกว่า ถูก ผิดอย่างไร หากพ่อ แม่สามารถเลี้ยงดูลูกโดยใช้ระบอบประชาธิปไตยภายในบ้าน จะทำให้ครอบครัวมีความสุข เกิดความอบอุ่นภายในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก มีความไว้วางใจในกันและกัน เด็กที่โตขึ้นจะเป็นเยาวชนที่ดี และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันหน้า
แต่ในการชุมนุมเรียกร้องครั้งนี้ เพื่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และผู้ปกครอง และครูจะสอนเหล่าเยาวชน ว่าประชาธิปไตย เป็นอย่างไร เราควรต่อสู้ข้างถนน หรือควรต่อสู้ในชั้นศาล เหล่านี้คือประเด็นที่ต้อง หาคำตอบ การแสดงออกทางการเมือง ของนักเรียน นักศึกษาเป็นสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ เป็นการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย
แต่เขาได้ถูกชักจูงและเป็นเครื่องมือ เพื่อผู้ใหญ่บางคนหรือไม่ ถ้ามีสถานการณ์ หากนักเรียนในโรงเรียน ต้องการไล่ครูใหญ่ ที่บริหารงานผิดพลาด โดยการรวมกลุ่มเข้ายึดโรงเรียน และประกาศข้อเรียกร้องให้ครูใหญ่ลาออก วิธีการบุกเข้ายึดโรงเรียน เป็นวิธีเรียกร้องที่ถูกต้องหรือไม่ และเราจะสอน ให้พวกเขาเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอย่างไร