ตะลอนทัวร์คลอดทริปใหม่

ปีใหม่นี้ จะฉลองปีใหม่กันที่ไหน ที่แน่แน่ พวกสมาชิกตะลอนทัวร์เตรียมเก็บกระเป๋ากันได้แล้ว เมื่อครั้งก่อนไปเที่ยวคลองวาฬ ข้าน้อยทำผิดอย่างแรงทิ้ง สองป้าให้เดินหลงทางกลับที่พัก ใครจะไปคิดล่ะว่า ไอ้แค่ 200 ม.ตรง ๆ ท่านพี่จะหลงทาง ก็ประสบการณ์ย่ำมาแล้วรอบโลก ก็น่าจะไม่หลง แต่ผิดครับหลงครับท่าน ได้ข่าวว่าคราวนี้ จะหอบหิ้วเอาผู้อำนวยการโรงเรียนไปหลงอีกคน นี่ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พากันหลงเหมือนเมื่อคราวก่อน สงสัยต้องเตรียมหางานใหม่กันได้เลย เรียกว่ากลับมาตัวใครตัวมัน ฮิฮิฮิ มีต่อ

วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

เคยหม่ำก๋วยเตี๋ยวไหม?


นักเรียนเคยทานอาหารชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่าก๋วยเตี๋ยวไหม ใครไม่เคยทานแปลกมากมาก วันนี้ครูจะขอนำประวัติเรื่องเกี่ยวกับอาหารชนิดนี้มาให้นักเรียนค้นคว้ากัน


ก๋วยเตี๋ยว เป็นอาหารชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเส้นยาว ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าเป็นส่วนใหญ่ โดยมากจะลวกให้สุกในน้ำเดือด สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาใส่เครื่องปรุงชนิดต่างๆ นิยมรับประทานทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง โดยนิยมใช้ตะเกียบเป็นเครื่องมือในการรับประทาน

ข้าวซอยก็นับเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือของไทย

ประวัติ
สันนิษฐานกันว่าก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยมีมาเมื่อประมาณ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการติดต่อกับชายต่างชาติมากมาย และชาวจีนก็ได้นำเอาก๋วยเตี๋ยวเข้ามากินกันในเรือ โดยต้มในน้ำซุป มีการใส่หมู ใส่ผักและเครื่องปรุงเพื่อความอร่อย แต่สำหรับคนไทยแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในยุคนั้น และได้นำมาประกอบเป็นอาหารอื่นๆ บริโภคกันจนมีความเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และเริ่มมีการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทย

ในสมัย จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบาย รัฐนิยม ที่สนับสนุนให้ประชาชน บริโภคก๋วยเตี๋ยว โดย ท่านนายกฯ เห็นว่าหากประชาชน หันมาร่วมกันบริโภคก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการแก้ไข เศรษฐกิจของชาติในตอนนั้น เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ดังคำกล่าวของท่าน นายกฯ ในสมัยนั้นว่า

“ อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยว มีประโยชน์ต่อ ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละ หนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้น ก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกันไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยขน์เต็มที่ในค่าของเงิน”





ชนิดของเส้นก๋วยเตี๋ยว

การตากเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่ หรือภาษาท้องถิ่นบางที่เรียก "หมี่ขาว" หรือ "เส้นหมี่ขาว" เพื่อป้องกันการสับสนระหว่างบะหมี่ ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า เป็นเส้นเรียวเล็ก ยาว มักใช้เครื่องจักรผลิต ก่อนนำมาทำอาหาร ต้องนำไปแช่น้ำเสียก่อน
เส้นเล็ก ลักษณะกว้างกว่าเส้นหมี่ และตัดเป็นท่อนๆ เพื่อความง่ายในการรับประทาน เมื่อลวกเสร็จแล้วจะเหนียวกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวอื่นๆ มักจะใช้นำไปทำผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก
เส้นใหญ่ มีขนาดความกว้างกว่าเส้นเล็ก ประมาณ 3-4 เท่าตัว เมื่อลวกเสร็จแล้วจะนิ่ม รับประทานง่าย มักนำไปทำก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ผัดซีอิ๊ว เย็นตาโฟ และราดหน้า
บะหมี่ ลักษณะเฉพาะตัวคือจะมีส่วนผสมของไข่จึงมีสีเหลือง ก่อนนำมาลวกจะต้องยีให้ก้อนบะหมี่คลายออก เพื่อไม่ให้เส้นติดกันเป็นก้อน ถ้าเป็นสีเขียว จะเรียกว่า "บะหมี่หยก" ซึ่งมีลักษณะเหมือนบะหมี่ธรรมดาทุกประการแต่จะใส่สีผสมอาหารให้เป็นสีเขียว มักจะนำไปใช้เป็นเส้นของ บะหมี่หมูแดง เย็นตาโฟ และบะหมี่เป็ด
โซบะ จะเป็นเส้นบะหมี่ของญี่ปุ่น ลักษณะของเส้นจะใหญ่กว่าเส้นบะหมี่ธรรมดา
เส้นก๋วยจั๊บ เส้นมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยม เมื่อนำไปต้มในน้ำร้อนก็จะม้วนตัวเป็นหลอด
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
เกี๊ยมอี๋ ลักษณะคล้ายลอดช่อง มีสีขาว มักทำเป็นก๋วยเตี๋ยวเกี๊ยมอี๋
วุ้นเส้น เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งถั่วเขียว ลักษณะเด่นคือมีความใสคล้ายวุ้น
ชนิดของอาหารที่ใช้เส้นก๋วยเตี๋ยว มีมากมายดังนี้

ก๋วยเตี๋ยวหมู ไก่ เป็ด เนื้อ ปลา
เย็นตาโฟ
ก๋วยเตี๋ยวเรือ หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำตก
ก๋วยเตี๋ยวคั่ว
ผัดซีอิ๊ว
ก๋วยจั๊บ
บะหมี่หมูแดง หรือบะหมี่เกี๊ยวหมูแดง
ผัดไทย หรือ ผัดไท
ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย หรือ ก๋วยเตี๋ยวชากังราว
ราดหน้า

ตอนนี้ครูหิวแล้วล่ะ วันนี้ฝากเอาไว้เท่านี้นะ แล้วมาเจอกัน

ครูนอกรั้ว

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ภาษาท้องถิ่น ในเมืองไทย

วันนี้ครูจะแนะนำให้นักเรียนภาษาไทยอีกภาษาหนึ่ง
คนที่ใช้ภาษานี้ที่เรารู้จักคือ จาพนม ยีรัมย์ นักแสดง เรื่ององค์บาก ที่โด่งดังเป็นข่าว ชนกลุ่มนี้ มีอาชีพเลี้ยงช้าง ให้กองทัพไทย ในสมัยโบราณ มาอย่างยาวนาน

ภาษากูย (Kuy) หรือ ภาษากวย หรือ ภาษาส่วย เป็นภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร กลุ่มกะตู มีผู้พูดทั้งหมด 366,675 คน พบในไทย 300,000 คน (พ.ศ. 2535) ในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศีรษะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ส่วนใหญ่พูดภาษาลาว ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาไทยหรือภาษาเขมรเหนือได้ด้วย พบในกัมพูชา 15,495 คน (พ.ศ. 2532) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดพระวิหาร เสียมเรียบ กำปงธม สตรึงเตรง ส่วนใหญ่พูดภาษาเขมรได้ด้วย พบในลาว 51,180 คน (พ.ศ. 2543) ในแขวงสะหวันนะเขต ส่วนใหญ่อยู่ตามริมแม่น้ำโขงในลาวภาคใต้
ภาษากูยเป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ ใช้ระบบน้ำเสียงแทน ในประเทศไทยมี 3 สำเนียงคือ
กูยเยอ พบที่
อำเภอเมืองศีรษะเกษ และ อ.ราษีไศล จังหวัดศีรษะเกษ
กูยไม พบที่
อ.อุทุมพรพิสัย และ อ.ราษีไศล จังหวัดศีรษะเกษ
กูยปรือใหม่ พบที่
อ.ขุขันธ์ เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามากลุ่มหลังสุด


จากครูนอกรั้ว

วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551

โดราเอมอน


โดราเอมอน หรือ โดเรมอน (「ドラえもん」, Dora'emon, – โดะระเอะมง?) เป็นตัวละครจากการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน เป็นหุ่นยนต์แมวจากโลกอนาคต ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 22เกิดวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2655 (ค.ศ. 2112) ลักษณะตัวอ้วนกลมสีฟ้า (เมื่อแรกเกิดมามีสีเหลือง) ไม่มีใบหู เนื่องจากถูกหนูแทะ มีหน้าที่เป็นหุ่นยนต์พี่เลี้ยงซึ่งคนที่ซื้อโดราเอมอนมาคือเซวาชิเหลนชายของโนบิตะ วันหนึ่งเซวาชิเกิดอยากรู้สาเหตุที่ฐานะทางบ้านยากจน จึงได้กลับไปในอดีตด้วยไทม์แมชชีน จึงได้รู้ว่าโนบิตะ (ผู้เป็นปู่ทวด) เป็นตัวต้นเหตุ เซวาชิจึงได้ตัดสินใจให้โดราเอมอนย้อนเวลาไปคอยช่วยเหลือดูแลเวลาโนบิตะโดนแกล้งโดยใช้ของวิเศษที่หยิบจากกระเป๋าสี่มิติ

โดราเอมอนเคยได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์เอเชีย ให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษของทวีปเอเชีย และในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551 มาซาฮิโกะ คามูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้แต่งตั้งให้โดราเอมอนเป็นทูตสันถวไมตรีอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศ โดยนับเป็น "ทูตแอนิเมชัน" ตัวแรกของประเทศญี่ปุ่น
แรงบันดาลใจ
ตัวละครโดราเอมอนนั้น ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2512 เนื่องจากนักวาดการ์ตูนทั้ง 2 ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ได้ลงโฆษณาการ์ตูนเรื่องใหม่ของเขาทั้งสองไว้ว่าจะมีตัวเอกที่ออกมาจากลิ้นชัก ในนิตยสารการ์ตูนฉบับต้อนรับปีใหม่ แต่ในความจริงแล้วทั้งสองยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้แม้แต่น้อยเลย เมื่อใกล้ถึงเวลาส่งต้นฉบับก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับทั้งสองเป็นอย่างมาก

ฮิโรชิ ฟุจิโมโตะ หนึ่งในนักวาดการ์ตูน ได้เผอิญเห็นแมวจรจัดที่มักแอบเข้ามาเล่นที่บ้านของตนเองเป็นประจำ เขามักจะชอบจับแมวตัวนี้มาหาหมัด จนเวลาล่วงเลยมาถึง 4.00 น. ก็ยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องใหม่ ทำให้ฮิโรชิโมโหตัวเองเป็นอย่างมาก และคิดเลยเถิดไปว่าโลกนี้น่าจะมีไทม์แมชชีน เพื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต หลังจากนั้นฮิโรชิได้เผลอหลับไปด้วยความอ่อนล้า เมื่อเขาสะดุ้งตื่นขึ้นมา ทำให้เขาตกใจว่าตนเองเผลอหลับไป จึงรีบวิ่งลงจากบันไดบ้านไปสะดุดกับตุ๊กตาล้มลุกญี่ปุ่นของลูกสาวที่ตกอยู่บนพื้น

เหตุนี้เองทำให้ฮิโรชิเกิดไอเดียขึ้นโดยนำหน้าแมวจรจัดมาผสมกับตุ๊กตาญี่ปุ่น สร้างออกมาเป็นตัวละครหุ่นยนต์แมวจากอนาคตคอยช่วยเหลือเด็กชายที่แสนจะไม่ได้เรื่อง และตั้งชื่อว่า โดราเอมอน เป็นคำผสมระหว่าง "โดราเนโกะ" กับ "เอมอน" ในภาษาญี่ปุ่น โดราเนโกะนั้นแปลว่าแมวหลงทาง ส่วนคำว่า "เอมอน" เป็นคำเรียกต่อท้ายชื่อของเด็กชายในสมัยก่อนของประเทศญี่ปุ่น

ต้นกำเนิด
โดราเอมอนสมัยตัวสีเหลืองมีหู
ตัวละครโดราเอมอนสมัยตัวสีฟ้าไม่มีหูโดราเอมอนถูกผลิตขึ้นในโรงงานสร้างหุ่นยนต์ที่เมืองโตเกียว เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2112 (พ.ศ. 2655) แต่ในระหว่างการผลิตเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ทำให้โดราเอมอนมีคุณสมบัติไม่เหมือนหุ่นยนต์แมวตัวอื่น ต้องเข้ารับการอบรมในห้องเรียนคลาสพิเศษของโรงเรียนหุ่นยนต์ (และได้พบกับเพื่อนๆ แก๊ง ขบวนการโดราเอมอน ที่นั่น) จนกระทั่งวันหนึ่ง ในงาน "โรบ็อต ออดิชัน" ซึ่งเป็นงานที่จัดให้มีการแสดงความสามารถของหุ่นยนต์ที่ได้ผ่านการอบรมแล้ว ด้วยความซุกซนของเซวาชิในวัยเด็ก เขาจึงได้กดปุ่มเลือกซื้อโดราเอมอนมาไว้ที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ โดราเอมอนจึงได้มาอยู่อาศัยที่บ้านของเซวาชิ ในฐานะของหุ่นยนต์เลี้ยงเด็ก แต่ในต้นฉบับดั้งเดิมนั้นจะแตกต่างกัน คือ โดราเอมอนได้ถูกนำไปขายทอดตลาด เพราะเป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ จากนั้นพ่อแม่ของเซวาชิจึงมาซื้อโดราเอมอนไปไว้ที่บ้าน

แต่เดิมนั้นตัวโดราเอมอนมีสีเหลือง และมีหู แต่แล้วในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2122 ขณะที่โดราเอมอนหลับอยู่นั้น ใบหูก็โดนหนูแทะจนแหว่งไปทั้ง 2 ข้าง และไม่สามารถซ่อมแซมให้เหมือนเดิมได้ หลังจากรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หุ่นยนต์แมว "โนราเมียโกะ" แฟนสาวของโดราเอมอนก็มาเยี่ยม แต่พอทราบว่าโดราเอมอนไม่มีหู เหลือแต่หัวกลม ๆ โนราเมียโกะถึงกับหัวเราะเป็นการใหญ่ ทำให้โดราเอมอนเสียใจเป็นอย่างมาก แต่ก็พยายามทำใจด้วยการดื่มยาเสริมกำลังใจ แต่ว่าโดราเอมอนหยิบผิดกินยาโศกเศร้าแทน ทำให้โศกเศร้ากว่าเดิม และเริ่มร้องไห้ไม่หยุด จนสีลอกเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน หลังจากนั้นโดราเอมอนจึงเกลียดและกลัวหนูเป็นอย่างมาก และไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเองเกี่ยวกับเรื่องความรัก

นอกจากนั้น โดราเอมอนยังมีน้องสาวชื่อโดรามี ที่จริงก็แค่ใช้เศษเหล็กแบบเดียวกันในการผลิต แต่โดเรมีใช้น้ำมันรุ่นใหม่ ขณะที่ผลิตโดราเอมอนอยู่ได้ทำชิปหล่นหายไป 1 ส่วน จึงทำให้หยิบของวิเศษผิดพลาดบ่อยๆ

จากครูนอกโรงเรียน

ความสุขของกะทิ


วันนี้ ครูเอาหนังสือนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ได้รับรางวัลมาให้นักเรียนได้อ่านกันค่ะ

ความสุขของกะทิ เป็นนวนิยายขนาดสั้น ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2549

ความสุขของกะทิ เล่าเรื่องราวของกะทิ เด็กหญิงวัย 9 ขวบที่กำลังจะต้องสูญเสียแม่ ซึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แม่รู้ตัวดีว่าไม่สามารถเลี้ยงดูกะทิได้ จึงฝากกะทิให้ตากับยายเลี้ยง กะทิเติบโตมาด้วยความรักของตาและยาย มีชีวิตอย่างสุขสบายในบ้านหลังน้อยริมคลองอันอบอุ่น
ผู้เขียน เล่าเรื่องราวของกะทิอย่างเรียบง่าย เนรมิตบ้านริมคลองให้เป็นบ้านในฝัน ที่อบอวลด้วยบรรยากาศอันรื่นรมย์ของอดีต ฉายรายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อย ของวิถีชีวิตที่สุขสงบของครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงให้ผู้อ่านประทับใจ
กะทิมีครอบครัวที่เอาใจใส่ ดูแลกะทิด้วยความรัก และความห่วงใยจากใจจริง เธอมีคุณตาที่เคยเป็นทนาย ซึ่งสามารถเรียกเสียงหัวเราะจากกะทิและครอบครัวได้อยู่เสมอๆ คุณยายของกะทิเป็นคนที่เคร่งครัด และหัวโบราณ แต่ถึงกระนั้นก็สอนกะทิเรื่องต่างๆนาๆ อะทิเช่น การทำอาหาร การอยู่ในสังคม เป็นต้น พี่ทองเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจกะทิเป็นอย่างดี และเป็นคนที่มีบุญคุณต่อกะทิ เพราะว่าพี่ทองเคยช่วยชีวิตกะทิไว้ตอนกะทิเป็นเด็กเล็ก น้าฏา และน้ากันต์ซึ่งเป็นคนที่ห่วงใยกะทิ และคอยหาสิ่งดีๆให้กะทิอยู่เสมอๆ และเป็นคนที่พูดปลอบใจกะทิในยามที่กะทิเศร้าโศกเสียใจ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ แม่ของกะทิ ที่ถึงแม้จะจากไปก่อนวัยอันควรแต่ก็จัดสิ่งต่างๆไว้ให้กะทิอย่างดิบดี ด้วยความรัก และเอาใจใส่จากใจ
แต่ในความสุขมีความเศร้า ในวิถีชีวิตที่สุขสงบนี้ กะทิต้องเผชิญประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ต้องสูญเสียแม่ และในความเศร้านั้นก็มีความสุข กะทิไม่คิดจะโหยหาถึงพ่อที่อยู่ไกลโพ้นต่างแดน หากเลือกอยู่ในอ้อมกอดของตากับยาย และผ่านชีวิตอันควรจะทุกข์นั้นด้วยใจที่เข้มแข็ง
เสน่ห์ของนวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้อยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่อง ที่ค่อยๆ เผยปมปัญหาทีละน้อย ๆ อารมณ์สะเทือนใจจะค่อยๆ พัฒนาและดิ่งลึกในห้วงนึกคิดของผู้อ่าน นำพาให้ผู้อ่านอิ่มเอมกับรสแห่งความโศกอันเกษม ที่ได้สัมผัสประสบการณ์ทางอารมณ์ของชีวิตเล็กๆ ในโลกเล็กๆ ของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ไกลจากชีวิตจริงของเราเลย

โดย คุณครูนอกรั้ว

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

ยุทธหัตถี




การรบครั้งสำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์ชาติไทย


อยากให้นักเรียนได้อ่านหาความรู้เพื่อความภูมิใจในความเป็ฯไทย


ยุทธหัตถี หรือ การชนช้าง (Elephant Duel) คือการทำสงครามบนหลังช้างตามประเพณีโบราณของกษัตริย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นการทำสงครามซึ่งถือว่ามีเกียรติยศ เพราะช้างถือเป็นสัตว์ใหญ่ และเป็นการปะทะกันซึ่ง ๆ หน้า ผู้แพ้จะถึงแก่ชีวิตได้
การกระทำยุทธหัตถีเป็นประเพณีสงครามที่รับมาจาก
อินเดีย โดยช้างที่ใช้ เรียกว่า "ช้างศึก" โดยมากจะนิยมเลือกใช้ช้างพลายที่กำลังตกมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงครามจะกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา เกิดความฮึกเหิมเต็มที่ โดยจะแต่งช้างให้พร้อมในการรบ เช่น ใส่เกราะที่งวงหรืองาเพื่อรื้อทำลายค่ายคูของฝ่ายตรงข้าม เรียกว่า "ช้างกระทืบโรง" หรือล่ามโซ่หรือหนามแหลมที่เท้าทั้งสี่ ใช้ผ้าสีแดงผืนใหญ่ปิดตาช้างให้เห็นแต่เฉพาะด้านหน้าเพื่อไม่ให้ช้างตกใจและเสียสมาธิ เรียกว่า "ผ้าหน้าราหู"
ตำแหน่งของผู้ที่นั่งบนหลังช้างจะมีด้วยกัน 3 คน คือ ตำแหน่งบนคอช้าง จะเป็นผู้ทำการต่อสู้ โดยอาวุธที่ใช้สู้ส่วนมากจะเป็น
ง้าว ตำแหน่งกลางช้าง จะเป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาณและส่งอาวุธที่อยู่บนสับคับให้แก่คอช้าง โดยอาวุธได้แก่ ง้าว, หอก, โตมร, หอกซัด และเครื่องป้องกันต่าง ๆ เช่น โล่ห์ เป็นต้น และตำแหน่งควาญช้างซึ่งจะเป็นผู้บังคับช้างจะนั่งอยู่หลังสุด และหากเป็นช้างทรงของพระมหากษัตริย์ จะมีทหารฝีมือดี 4 คนประจำตำแหน่งเท้าช้างทั้ง 4 ข้างด้วย เรียกว่า "จาตุรงคบาท" ซึ่งไม่ว่าช้างทรงจะไปทางไหน จาตุรงคบาทต้องตามไปคุ้มกันด้วย หากตามไม่ทันจะมีโทษถึงชีวิต
โดยมากแล้ว ผลแพ้ - ชนะของการทำยุทธหัตถีจะขึ้นอยู่กับขนาดของช้าง ช้างที่ตัวใหญ่กว่าจะสามารถข่มขวัญช้างที่ตัวเล็กกว่า เมื่อช้างที่ตัวเล็กกว่าหนีหรือหันท้ายให้ หรือช้างตัวใดที่สามารถงัดช้างอีกตัวให้ลอยขึ้นได้ จะเปิดจุดอ่อนให้โจมตีได้ตรง ๆ การฟันด้วยของ้าวเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ถึงชีวิตได้ โดยร่างอาจขาดหรือเกือบขาดเป็นสองท่อนได้ เรียกว่า "ขาดสะพายแล่ง"
การกระทำยุทธหัตถีใน
ประวัติศาสตร์ไทยที่เลืองลือ ปรากฏทั้งหมด 4 ครั้ง คือ
1. การชนช้างระหว่าง
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พ่อขุนรามคำแหงชนะ
2. การชนช้างที่สะพานป่าถ่าน ระหว่างเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา เพื่อชิงราชสมบัติ ปรากฏว่าสิ้นพระชนม์ทั้งคู่
3. ยุทธหัตถีระหว่าง
สมเด็จพระสุริโยทัยกับพระเจ้าแปร ในปี พ.ศ. 2091 ที่ทุ่งมะขามหย่อง อยุธยา สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ขาดคอช้าง
4. ยุทธหัตถีระหว่าง
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชามังสามเกียด ในปี พ.ศ. 2135 ที่หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ชัยชนะ
ในต่างประเทศ มีกษัตริย์นักรบหลายพระองค์ที่ใช้ช้างในสงครามและกระทำยุทธหัตถี เช่น พระเจ้าเปารยะ แห่งอินเดีย ที่ใช้กองทัพช้างสู้กับกองทัพของ
อเล็กซานเดอร์มหาราช ในพม่า พระเจ้าบุเรงนองและพระเจ้านันทบุเรงต่างก็เคยกระทำยุทธหัตถีและได้รับชัยชนะมาแล้วอย่างงดงามทั้ง 2 พระองค์


โดย ครูกอล์ฟ