ตะลอนทัวร์คลอดทริปใหม่

ปีใหม่นี้ จะฉลองปีใหม่กันที่ไหน ที่แน่แน่ พวกสมาชิกตะลอนทัวร์เตรียมเก็บกระเป๋ากันได้แล้ว เมื่อครั้งก่อนไปเที่ยวคลองวาฬ ข้าน้อยทำผิดอย่างแรงทิ้ง สองป้าให้เดินหลงทางกลับที่พัก ใครจะไปคิดล่ะว่า ไอ้แค่ 200 ม.ตรง ๆ ท่านพี่จะหลงทาง ก็ประสบการณ์ย่ำมาแล้วรอบโลก ก็น่าจะไม่หลง แต่ผิดครับหลงครับท่าน ได้ข่าวว่าคราวนี้ จะหอบหิ้วเอาผู้อำนวยการโรงเรียนไปหลงอีกคน นี่ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พากันหลงเหมือนเมื่อคราวก่อน สงสัยต้องเตรียมหางานใหม่กันได้เลย เรียกว่ากลับมาตัวใครตัวมัน ฮิฮิฮิ มีต่อ

วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551

วิเคราะห์นวนิยาย เรื่อง เรือนไม้สีเบจ








การวิเคราะห์ นวนิยายเรือนไม้สีเบจ
รางวัลเกียรติยศ
- บุคคลดีเด่นทางด้านอนุรักษ์มรดกไทย สาขาภาษาและวรรณกรรม เนื่องในปีอนุรักษ์มรดกไทย สาขาภาษาและวรรณกรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๗
- ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ จากสำนัก งานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ประถมาภรณ์มงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๘
- จตุตถจุลจอมเกล้า พ.ศ. ๒๕๔๑

ผลงานการเขียน
นวนิยาย
1. แก้วราหู
2. จอมนาง
3. มิถิลา – เวสาลี
4. ไร้เสน่หา
5. เพลงพรหม
6. มายา
7. บ้านของพรุ่งนี้
8. ฟ้าต่ำ
9. ทางไร้ดอกไม้
10. ทางรัติกาล
11. เศรษฐีตีนเปล่า
12. ปัญญาชนก้นครัว
13. แม่พลอยหุง
14. วงศาคณาญาติ
15. เบญจรงค์ห้าสี
16. เศรษฐีใหม่
17. ละครคน
18. แต่ปางก่อน
19. นางทิพย์
20. เรือนมยุรา
21. ทานตะวัน
22. ผ้าทอง
23. เมืองโพล้เพล้
24. บ้านพิลึก
25. รัตนโกสินทร์
26. สองฝั่งคลอง
27. เส้นไหมสีเงิน
28. มณีร้าว
29. น้ำใสใจจริง
ฯลฯ.
รวมเรื่องสั้น : หัวหน้าของเจ้าหล่อน
เรื่องแปล
1. สงครามเสน่หา
2. คืนหนึ่ง
3. ยังจำได้
4. พิษน้ำผึ้ง
5. วัยเล่นไฟ
6. เวนิสพิศวาส
7. โรมรัญจวน
8. บัลลังก์รัก
9. ความพยาบาท ( ฉบับสมบูรณ์ )
10. นารี ( รวมเรื่องสั้นของวิลเลียม ซอมเมอเซท มอห์ม )
งานวิจัย : อิทธิพลของมารี คอลเรลลีต่อวรรณกรรมไทย
บทเพลง : ศรีสนามจันทร์ ลาวม่านแก้ว
รวมบทวิจารณ์วรรณกรรม : ปากกาขนนก ฯลฯ
ผลงานต่างประเทศ : The Night Full ( รวมเรื่องสั้นนักเขียนเอเซียในชุด The Wall and other Stories ในโครงการ UNESCO )

การนำความรู้จากเรื่องต่าง ๆ มาแต่งเป็นนวนิยายเรื่องนี้
ว.วินิจฉัยกุล มีประสบการณ์มากมายเนื่องจากเป็นนักเขียนที่โด่งดัง ซึ่งแต่งนวนิยายมามากมาย จัดว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางการเขียนเลยก็ว่าได้ เธอเป็นผู้ที่รอบรู้ในหลาย ๆ เรื่องแล้วนำเรื่องราวต่าง ๆ นำมาเรียบเรียงแล้วเขียนเป็นเรื่องราวอย่างสมบูรณ์ เธอเป็นผู้ที่มีความรู้หลายด้วยหลายแขนง เพราะเธอจบการศึกษาสูง แล้วยังมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอีกด้วย เธอสร้างสมผลงานมาจากการที่เธอเป็นนักค้นคว้าและนักท่องเที่ยวนี่เอง เธอจึงได้มีนวนิยายหลากหลายเรื่องนำมาฝากผู้อ่านอยู่เสมอ จนทำให้เธอได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปตลอดจนทุกวันนี้

วิเคราะห์กลวิธีการเขียนเรื่องเรือนไม้สีเบจของ ว.วินิจฉัยกุล
นวนิยายเป็นการเขียนประเภทบันเทิงคดีซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้นำนวนิยายมาศึกษาและวิเคราะห์วิจารณืกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากนวนิยายเติบโตมากและเป็นที่นิยมของคนหมู่มาก ตั้งแต่เด็กยันผู้สูงอายุ ต่างก็ชอบอ่านนวนิยายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีคนอ่านมาก ๆ เข้าก็มีคนซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นละคร
ส่วนใหญ่ที่เขานำนวนิยายมาวิเคราะห์นั้นก็เพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่ผู้อ่านเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนั้น ๆ ว่าเป็นนวนิยายที่ผู้แต่งต้องการนำเสนออะไรในผลงานนั้น ๆ แล้วก็นำมาวิเคราะห์อย่างมีกลวิธี เพื่อให้งานนั้น ๆ ออกมามีคุณค่ายิ่ง
วิทย์ ศิวะศริยานนท์ ( 2518, หน้า 217 ) ได้กล่าวไว้ว่า การวิจารณ์คือการพิจารณาลักษณะของบทประพันธ์ ควรแยกแยะส่วนประกอบที่สำคัญ และหยิบยกออกมาแสดงให้เห็นว่าไพเราะ งดงามเพียงใด วิเคราะห์ความหมายของบทประพันธ์นั้น ๆ”

วิเคราะห์องค์ประกอบที่สำคัญของนวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ
โครงเรื่อง
มุก หญิงสาวที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ชอบมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ เมื่อครั้งยังเด็กเธอได้ถูก นายแม่ ขอไปเลี้ยงความเป็นอยู่ของเธอจึงไม่ค่อยหรูหราเหมือนพี่น้องคนอื่นเท่าใดนัก โชคร้ายที่เธอยังมักจะถูก ธัญญา ผู้เป็นแม่หมั่นไส้การกระทำของเธออยู่ เสมอ ๆ มุกเป็นเด็กขยันจนกระทั่งเธอได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จนเป็นเหตุบังเอิญให้เธอได้มาพบกับ อาร์ม หนุ่มหล่อที่เป็นที่หมายตาของบรรดาสาว ๆ ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย รวมไปถึง ขจีรัตน์ สาว เปรี้ยว เซ็กซี่ ที่หมายมั่นจะให้อาร์มตอบรับความรักที่เขามีให้
หลังจากที่ยายของอาร์มเสียชีวิตลง เขาก็ได้อาศัยอยู่ใน เรือนไม้สีเบจ เพียงลำพัง โดยมี ลุงช่วง คนสนิทเป็นผู้คอยดูแลบ้าน ให้กับเขาอาร์มกับมุขเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น คอยดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องการเรียนจนทำให้ทั้งสองรู้สึกถึงความผูกพันจนในที่สุดก็กลับกลายมาเป็นความรัก นายแม่ถูกชะตากับอาร์มเป็นอย่างมาก ซึ่งผิดกับธัญญาที่คอยดูถูกอาร์มอยู่เสมอว่าเป็นคนธรรมดาไร้ฐานะความผูกพันระหว่างอาร์มกับมุขค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น แต่ในบางครั้งเขาทั้งสองก็ต้องพบกับอุปสรรค ส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาที่เกิดจากจี เธอมักจะคอยแสดงตัวเป็นเจ้าของอาร์มเสมอทั้งที่จริง ๆ แล้วอาร์มเองไม่ได้รู้สึกกับจีแบบคนรักเลย จนทำให้บางครั้งมุขเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจ ในตัวของอาร์ม หากแต่ทุกครั้งที่เกิดปัญหาก็ยังคงมีหยุ่น กับเข็ม เพื่อรักที่คอยให้กำลังใจเธออยู่เสมอ
เวลาผ่านไปไม่นานอาร์มเรียนจบชั้นปีที่ 4 เขาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอเมริกา ซึ่งการไปของเขาครั้งนี้ได้ไปอาศัยอยู่กับ ยศ พ่อของเขาที่หย่าร้างกับ สรวงสินี ผู้เป็นแม่ ตั้งแต่อาร์มยังเด็ก เหตุผลก็เพราะเธอมัวแต่หมกหมุ่นอยู่กับสังคมไฮโซจนไม่มีเวลาดูแลลูก อาร์ม รู้สึกไม่ ชอบใจเมื่อรู้ว่าแม่ไปแต่งงานอยู่กินกับ ศก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า จุลศก และ ศศิ ลูกติดของศกไม่ชอบหน้าเธอ ก่อนที่อาร์มจะมาเรียน ต่อที่อเมริกาเขาให้สัญญากับมุขว่าจะรักกันตลอดไป อาร์มตั้งใจเก็บเงินสร้างฐานะให้ดีขึ้นเพื่อดูแลมุก มุกตั้งใจเรียนให้จบและระหว่างนั้น เธอก็ดูแลนายแม่ไปด้วย เธอนั้นติดต่ออยู่กับอาร์มเสมอ ๆ ทางอินเตอร์เน็ต เมย์ พี่สาวของมุกได้คบหาอยู่กับจุลศก แต่หารู้ไม่ว่าแฟนหนุ่มของเธอได้แอบชอบมุก แต่มุกไม่สนใจ มุกตกใจกับข่าวที่ว่าอาร์มเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ สาเหตุเนื่องมาจากจีหึงหวงที่อาร์มรักมุก จึงเกิดปากเสียงกันขั้นถึงขั้นยื้อแย่งพวงมาลัยจนเป็นเหตุให้รถเสียหลักตกลงข้างทาง อาร์มบาดเจ็บถึงขั้นพิการ
เขาเสียใจที่ทำอย่างที่ฝันไว้ไม่ได้ อาร์มตัดสินใจเขียนจดหมายบอกความในใจกับมุกว่าเขาไม่ต้องการเหนี่ยวรั้งให้เธออยู่กับคนพิการอย่างเขา หากเธอพบคนที่ดีกว่าก็ให้ไป มุกเสียใจมากแต่เธอก็ยืนยันว่าเธอจะรักอาร์มต่อไป นายแม่เริ่มชรา จนร่างกายไม่แข็งแรงเธอ มัวดูแลนายแม่จนลืมนึกถึงอาร์ม สรวงสินีก็มัวแต่ห่วงเรื่องสมบัติ เหตุผลเพราะศกเริ่มมีอาการเจ็บป่วยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเธอเองก็ได้รับส่วน แบ่งมามากแต่เก็บไว้มิให้ใครรู้ มุกดีใจมากที่อาร์มกลับมาเมืองไทย เธอพาเขาไปกราบนายแม่ บังเอิญไปพบจุลศกเข้า จุลศกแค้นที่รู้ว่า อาร์มและมุกรักกัน เขาพยายามหาวิธีที่จะกำจัดอาร์มไปให้พ้นทาง หลังจากที่มุกเรียนจบเธอ ตัดสินใจแต่งงานแบบเรียบง่าย โดยมีนายแม่เป็นสักขีพยาน ธัญญาทราบเรื่องถึงขั้นตัดแม่ตัดลูกและไล่มุกออกจากบ้าน
ส่วนนายแม่ไม่นานก็เสียชีวิตลง มุกจึงย้ายไปอยู่กับอาร์มที่เรือนไม้สีเบจ ทั้งสองพยายามหาหนทางเพื่อเลี้ยงชีพในครอบครัว โดยการทำธุรกิจเย็บกระเป๋าสตางค์ส่งนอก ซึ่งก็ได้แม่ของอาร์มเป็นคนติดต่อลูกค้าให้ มุกและอาร์มพยายามวิ่งเต้นเรื่องพินัยกรรมของนายแม่ที่ถูกจุลศกใช้แผนสกปรก แต่ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ เวลาผ่านไป ไม่นานมุกก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายออกมาชื่อ น้องออม หลังจากศกเสียชีวิตลงสรวงสินีจึงได้กลายมาเป็นเศรษฐินีในที่สุด
มุกและอาร์มมีความสุขได้เพียงไม่นานก็ต้องพบกับอุปสรรค เมื่อจีเข้ามาวุ่นวายในชีวิตครอบครัวของเธออีกครั้ง เนื่องจากจีวางแผนล่อลวงอาร์มให้มาติดกับจุลศก เขาซ้อมอาร์มเกือบปางตาย จนทำให้มุกเข้าใจผิดคิดว่าอาร์มกลับไปยุ่งกับจี เธอตัดสินใจหอบ ลูกหนีไปอยู่กับ แม่ที่บ้าน สรวงสินีลืมเรื่องที่ผ่านมาเพราะมัวแต่เห่อหลานชาย อาร์มไปง้อขอคืนดีแต่ถูกแม่ของมุกกีดกัน เขาจึงกลับไป อยู่ในเรือนไม้สีเบจอย่างเศร้าหมอง จนเกือบตรอมใจตาย เขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มุกกับลูกเห็นใจ จนในที่สุดมุกก็ใจอ่อน ยอมพาลูกกลับมาอยู่ ที่เรือนไม้สีเบจอีกครั้ง อาร์มเริ่มมีอาการดีขึ้นจนเกือบจะเป็นปกติ กิจการเย็บกระเป๋าส่งออกนอกก็ดูจะไปได้สวย เขาขยันขันแข็งสมกับเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี สุดท้ายบั้นปลายชีวิตของเขาและเธอก็จบลงอย่างมีความสุข โดยมีลูกน้อยเป็นพยานรักระหว่างเขาและเธอใน เรือนไม้สีเบจ

แก่นของเรื่อง
พี่อาร์ม ศัสตรา คะเนสรรค์...นักศึกษาปี 4 นักกีฬาบาสเกตบอล ทีมชาติ โคจรมาพบกับ น้องมุก เมนกา เพ็ญชีพ นักศึกษาปี 1 ที่ชีวิตมีแต่การเรียน ตามประสาเด็กเรียน ขณะที่พี่อาร์ม เป็นเด็กนักกีฬา ....พรหมลิขิตบันดาลให้มาพบกัน ด้วยวิชาภาษาไทยพื้นฐาน เพราะมุกตัวเล็ก นั่งหลังพี่อาร์มเลยมองไม่เห็นอาจารย์(พี่อาร์มทักมุกว่า ตัวนิดเดียวเหมือนเด็กกระป๋อง เด็กอะไรก็ไม่รู้ ) ทั้งคู่ได้รู้จักกัน จากคำแนะนำของ พี่จี เพื่อนของพี่อาร์ม และพี่จีคนนี้ ก็ได้ทำให้ชีวิตของพี่อาร์มและของมุก มีเรื่องราวมากมาย....
ความรักของทั้งคู่ เกิดขึ้น มีคุณย่าของมุกเป็นกำลังใจ มีบ้านที่พี่อาร์มอยู่มาตั้งแต่เกิด บ้านที่มีความอบอุ่น และความทรงจำของพี่อาร์ม บ้านที่น้องมุกตั้งชื่อให้ว่า เรือนไม้สีเบจ เป็นบ้านที่พักพิง และสร้างครอบครัว
พี่อาร์ม เป็นคนเคร่งเครียด เคร่งครัด ตั้งใจจริง มีหัวใจที่อ่อนโยน บางครั้ง พี่อาร์มก็ไม่พูด มีอะไรในใจก็เก็บไว้คนเดียว ทำให้มุกไม่เข้าใจ เรื่องบางเรื่อง พี่อาร์มคิดว่าเรื่องเล็กๆ แต่มันสำคัญสำหรับมุก พี่อาร์มก็ไม่พูด ทำให้ทั้งคู่ไม่เข้าใจกัน แต่ด้วยความรัก ทั้งคู่ กุมมือกันเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้น
อย่าปล่อยมือฉันได้ไหม ไม่ว่าอะไรก็ตาม เจ็บปวดชอกช้ำแค่ไหน จับมือฉันไว้ตลอดเวลาอย่าปล่อยมือฉันได้ไหม ถึงฉันจะมีน้ำตา ก็จะขอยืนยัน ว่าฉันจะอยู่กับเธอ
แก่นของเรื่องเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของนวนิยาย ซึ่งผู้เขียนใช้เป็นสารนำเสนองานออกมาเพื่อให้เห็นธรรมชาติ หรือหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างที่อยู่ในตัวมนุษย์ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล นั้นเป็นเรื่องที่เน้นพฤติกรรมของตัวละคร
แก่นของเรื่องนั้นชี้นำเกี่ยวกับเรื่องราวของความรักเป็นส่วนใหญ่ ความรักในที่นี้อาจจำแนกออกได้หลายลักษณะดังนี้
1. ความรักของหนุ่มสาว ซึ่งเรื่องนี้สื่อให้เห็นถึงความรักที่ถูกกีดกัน เกิดจากฐานะครอบครัวที่แตกต่างกัน ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไม่ชอบฝ่ายชาย จึงตัดสิทธิ์ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวฝ่ายหญิง แต่ถึงกระนั้นทั้งคู่ก็ยังฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ด้วยดี มีความรักที่ดีต่อกัน มีความห่วงหาอาทรกัน
2. ความรักต่อบุพการีและสายเลือดเดียวกัน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรักที่ลูกมีต่อแม่ ต่อยาย ความรักพวกพ้อง
3. ความรักที่แม่มีต่อลูก ถึงแม้ว่าลูกจะเกลียดชังแม่อย่างไร แต่ด้วยสายเลือดแม่จึงยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกมีความสุข และแอบหนุนลูกอยู่ข้างหลังโดยที่ลูกไม่รู้ว่าแม่ทำเพื่อตัวเองตลอดเวลา

การดำเนินเรื่อง
เป็นการเล่าเรื่องราวในอดีตสลับกับเรื่องราวในปัจจุบัน คล้าย ๆ กับการอ่านบันทึกในไดอารี่ แต่ในเรื่องนี้เป็นการสร้างตัวละครตัวหนึ่งขึ้นมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ และกำหนดชีวิตของตัวละครหลาย ๆ ตัวผ่านการเล่าของตัวเอกของเรื่อง
การดำเนินเรื่องในนวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล นั้นผู้ประพันธ์ใช้วิธีการเล่าเรื่องราวสลับกับเหตุการณ์บางส่วน หรือสลับกับตัวละคร ต่างสถานที่ต่างเหตุการณ์ สลับกันไปสลับกันมาจนทำให้เกิดภาพพจน์ และรู้เรื่องราวของเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี ลักษณะการดำเนินเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
1. การดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา
2. การดำเนินเรื่องตามที่ผู้ประพันธ์กำหนดโดยใช้การสลับตัวละคร สลับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วเล่าเป็นเรื่องราวเป็นฉาก ๆ ไป
3. การเล่าเรื่องนั้นอาศัยตัวละครเป็นตัวเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้เรื่องนั้นมีเนื้อหาที่สมบูรณ์ และทำให้เรื่องราวนั้น ๆ น่าสนุกยิ่งขึ้น

ตัวละคร
ตัวละคร หมายถึง ผู้ที่ประกอบพฤติกรรมตามเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องเพื่อให้เรื่องดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ผู้เขียนก็จะกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนดังนี้
1. ให้ชื่อ กำหนดรูปร่าง เพศ วัย หน้าตา อายุ
2. กำหนดนิสัยใจคอ บุคลิกภาพ
3. กำหนดบทบาท และกำหนดชะตากรรมของตัวละครตัวนั้น ๆ
เมื่อพิจารณาการสร้างตัวละครในนวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล แล้วปรากฏว่าผู้ประพันธ์ได้สร้างตัวละครขึ้นจากจินตนาการ และวิสัยของมนุษย์กับธรรมชาติโดยทั่ว ๆ ไป แต่ไม่เวอร์จนเกินไป กล่าวถึงชีวิตคนได้เหมาะสม ตัวร้ายก็ไม่ร้ายจนเกินไป แต่ก็ร้ายในทีอย่างผู้ดี แต่ก็เป็นการร้ายในเรื่องของความเป็นห่วง ความรักของแม่ที่ให้กับลูก นอกจากนั้นตัวร้ายอีกลักษณะหนึ่งของเรื่องก็เป็นตัวร้ายที่ร้ายเพราะจำเป็น ร้ายเพราะความรักแบบหึงหวง ร้ายแบบหักหลังกันได้
วิธีการนำเสนอตัวละครเป็นการบรรยายเรื่องราวไปเรื่อย ๆ แล้วอาศัยการสลับระหว่างฉากกับตัวละคร หรือสลับกับบุคคลที่เป็นตัวเดินเรื่องตัวอื่น ๆ ได้อย่างแนบเนียน อุปนิสัยใจคอของตัวละครก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจน อารมณ์หึงหวง อารมณ์โกรธ เป็นต้น
การนำเสนอตัวละครนั้นดีเพราะไม่มีตัวละครมากมายให้ผู้อ่านต้องจดจำและปวดหัว แต่ตัวละครแต่ละตัวที่สร้างขึ้นมานั้นบุคคลิกลักษณะก็แตกต่างกันออกไปดังนี้
1. นางเอก ก็เรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่ค่อยพูด บทดูเป็นนางเอ๊กนางเอกจนเกินไป ไม่มีการตอบโต้นางร้ายบ้าง
2. นางร้าย ก็ร้ายเสียจนคนอ่านหมั่นไส้ เพราะนางร้ายก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อแกล้งนางเอกและพระเอก หึงหวงแบบไม่รู้ว่าจะผิดศีลข้อที่ 3 หรือเปล่า
3. พระเอก ก็เป็นคนที่ไม่ค่อยพูด มักจะโดนกลั่นแกล้งบ่อย ๆ แต่ในเรื่องนี้จะดีตรงที่พระเอกแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ เพราะไม่เป็นคนหูเบาเชื่อคนง่าย เข้มแข็งและพร้อมที่จะเผชิญชีวิตต่อไป ถึงแม้ว่าตนเองจะพิการก็ตาม

ฉาก
ฉาก หมายถึงสถานที่ เวลาที่เกิดขึ้นในเรื่อง ๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมนั้นก็นำมาเป็นฉากได้ แล้วนำมาผสมผสานผนวกกับตัวละครจนเกิดเป็นภาพพจน์และการได้รับรู้ถึงเรื่องราวในแต่ละตอน ซึ่งเกี่ยวพันธ์กับสถานที่นั้น ๆ ด้วยวิธีการเปลี่ยนฉากนั้น ผู้ประพันธ์จึงอาศัยการบรรยายเข้าช่วย โดยเปลี่ยนจากเหตุการณ์หนึ่งไปยังอีกเหตุการณ์หนึ่งสลับกับบทสนทนาของตัวละคร แล้วยังใช้วิธีการปิดฉากด้วยเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้นอย่างฉับพลัน แล้วเริ่มเปลี่ยนไปเป็นอีกฉากหนึ่ง จากนั้นจึงดำเนินเรื่องต่อไป โดยผู้ประพันธ์ได้สร้างฉากสำคัญ ๆ ในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1. การใช้ฉากธรรมชาติเพื่อแสดงความสมจริงของเรื่อง
2. การใช้ฉากในจินตนาการ
3. ฉากที่อาศัยบทบรรยายถึงบรรยากาศของสถานที่นั้น ๆ เช่นฉากบ้านของพระเอก โรงงานซึ่งเป็นการผลิตกระเป๋าในครัวเรือนของพระเอก ที่นางเอกเป็นผู้ดำเนินกิจการเอง โดยที่พระเอกไม่ค่อยมีบทบาทในส่วนนี้
4. ฉากที่แสดงรสนิยมของตัวละคร เช่น บ้านของนางเอกซึ่งแสดงฐานะความร่ำรวย การแต่งตัว การซื้อข้าวของที่เฟ้อของคนรวย เป็นต้น
5. กลวิธีในการเปลี่ยนฉากนั้น ผู้แต่งได้มีการสลับฉากกับการเล่าเรื่องและตัวละครได้อย่างดี ดูเหมือนเป็นเรื่องจริงทำให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง

ทสนทนา
บทสนทนาหรือบทพูดนั้น ตามธรรมดาแล้วนวนิยายทุกเรื่องจะต้องกำหนดให้ตัวละครแต่ละตัวพูดและคำพูดเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของแต่ละตัวนั้นเป็นคนดีหรือคนเลว เป็นนางเอกหรือพระเอก นอกจากนั้นผู้เขียนยังใช้บทสนทนาของตัวละครนั้นเองเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินเรื่องและเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนให้เปลี่ยนไปได้อีกหลายอย่างดังนี้
1. เพื่อช่วยในการดำเนินเรื่องแทนการบรรยาย
2. ช่วยแนะนำตัวละครในเรื่องทั้งบุคลิกและพฤติกรรม ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนั้น ๆ
3. ช่วยเปลี่ยนแปลงบรรยากาศเป็นการบรรยาย หรือการเล่าเรื่องของตัวละคร หรือแม้แต่การบรรยายเรื่องของผู้เขียนเองก็ตาม
4. ช่วยสร้างความสมจริงให้กับตัวละครด้วยการใช้คำพูดให้เหมือนกับการสนทนาของคนจริง ๆ หรือการสนทนาของเราปกติ
5. ช่วยดึงดูดความสนใจ และให้แนวคิดแก่ผู้อ่านทั้งความรู้สึกและอารมณ์ เพื่อให้ผู้อ่านติดตาม

คำที่ใช้ส่วนใหญ่มักจะเป็นคำพูดพื้น ๆ แบบที่เราพูดกันปกติ ดังนี้
“พอแล้วจ้ะ”
“น้องมุกต้องช่วยพี่นะ ภาษาพี่ห่วยมากเลย”
“เรานี่เจ้าคิดเจ้าแค้นไม่เลิก เรื่องมันผ่านมาเป็นสิบปีแล้วนะ”
“เรื่องของฐานะไว้สร้างกันทีหลัง ขอให้รักเราจริงก็พอ”
“พี่อาร์มว่าอะไรนะคะ”
“ผมจะไม่ไปเหยียบที่นั่นอีก”
“กี่โมงคะ”
“แหมอาร์ม คุณศกยังหนุ่มจ้ะ บอกว่าอายุ 60 ไม่มีใครเชื่อเลย”
“คุณยายเป็นไงบ้างครับ”
“ทำไมอาร์มว่าแม่อย่างนี้ล่ะลูก”
“คุณยายไม่อยู่กับเราแล้วลูก”
“A ตั้งแต่เป็นปกรายงานแล้วละค่ะ”
“อาร์มมาดูต้นโมกกับย่าหน่อยซิ”
“งั้นมุกจะเล่านิทานกล่อมพี่อาร์มเองค่ะ”
“รู้สึกใครต่อใครอ่านผมออกหมดเลยนะ”
“เออมุก เธอว่าคุณจุลศกเป็นอย่างไรบ้าง”
“ถ้าคุณอาผู้ชายเห็นด้วย เรื่องสินสอดคุณอาต้องการเท่าไหร่ก็เรียกมาเต็มที่เลย ผมจะหามาให้ได้ครับ”
“ใช่ ทำไมเรอะ…”
“กูไม่ยอมให้จบแค่นี้หรอก แต่งกันได้ กูก็ทำให้เลิกกันได้”
“พี่กับจุลศกเคยแอบอยู่กินกันลับ ๆ อยู่หลายเดือน”
“เป็นความผิดของนายแม่เอง นายแม่ไม่ควรให้จุลศกทำพินัยกรรมเลย เค้ารู้รายละเอียดเลยเกิดความโลภ จนทำให้มุกเดือดร้อน”
“อุ๊ย หนูมุก พูดยังกะโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่โต ไม่ใช่จ้ะ แค่อุตสาหกรรมในครัวเรือนเล็ก ๆ ไม่มีเครื่องจักร วัตถุดิบก็แค่ผ้าไหมกับหลอดด้าย เราไปจ้างคนเย็บแล้วเอามาส่งเราก็ได้ มีเอเย่นต์ทางญี่ปุ่นรับซื้อหมด ขอให้ทำตามแบบที่เค้าสั่งก็พอ”
“งั้นก็ดีเลย มาช่วยงานแม่ก่อนไหมลูก”
“เฮ้ย…หูแตกหรือไงวะ”
“อยู่ในห้องน้ำ…”
“มาแล้วค่ะ…”
“ใช่…ปล่อยให้พี่อาร์มแกไปเลี้ยงลูกแกเหอะ…”
“ขอบคุณค่ะ”
“พี่ไม่ไหวแล้วนะจุล…ยอม ๆ แม่สรวงสินีไปเถอะอย่าฟ้องให้ยืดเยื้อต่อไปเลย จะได้แบ่งมรดกมาใช้”
“ผมไม่ยอม”
“แล้วมาหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำไมล่ะ”
“พี่จะหมดตัวแล้วนะ… ตัวเองไม่มีลูกไม่มีเมียตัวคนเดียวก็เอาตัวรอดสิ ค่าใช้จ่ายพี่มากขนาดไหนจุลรู้ไหม จุลเองก็มีคดีติดตัวต้องใช้เงินนะ”
“อย่าบอกนะว่าอยู่กับผม”
“ใคร”
“มันจะเอาเท่าไหร่”
“5 แสน”
“มุกไม่ไล่พี่จีหรอกค่ะ…”
“อุ๊ย…รถซ่อมไม่กี่วันหรอกค่ะ”
“ขึ้นไปเก็บของนะยะ ไม่ใช่นอนร้องไห้อยู่ต่อ”
“พี่ไปด้วยนะมุก”
“รับไปอ่านซะ เขามีลูกด้วยกันแล้วย่ะ”
“มุกยอมกลับมาหาพี่แล้ว”
“ค่ะลุง”
“เจ้าตัวเล็กล่ะ”
“ก็แล้วแต่คุณสรวงเถอะค่ะ…ฉันว่างหรือเปล่าค่อยว่ากันทีหลัง”

ท่วงทำนองการเขียนของ ว.วินิจฉัยกุล
ท่วงทำนองการเขียนเป็นกระบวนการเขียนที่ผู้เขียนได้แสดงออกไว้หลากหลาย แต่ละคนจะมีแนวทางการเขียนที่แตกต่างกันเนื่องจากภูมิหลังของชีวิตคนแต่งแต่ละคนนั้นต่างกัน การใช้ชีวิตแตกต่างกัน หรือที่เรียกว่าการเจนชีวิตนั่นเอง ซึ่งงานเขียนของผู้เขียนแต่ละคนนั้นจะสร้างสรรค์ออกมาแตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะวิธีการเขียนที่อาศัยปมชีวิตเล็ก ๆ มาผนวกกับเรื่องราวในนวนิยายที่แตกต่างกัน งานเขียนที่ออกมาจึงมีความสนุกแตกต่างกันไปตามแนวการเขียนของผู้เขียน ซึ่งมีผู้ที่ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับท่วงทำนองการเขียนไว้คือ
เจือ สตะเวทิน ( 2518, หน้า 54 ) กล่าวว่า วิธีการเขียนหนังสือเป็นเทคนิค และเป็นศิลปะส่วนบุคคล แต่ละคนย่อมมีวิธีการเขียนแตกต่างกันไป นักเขียนชาวฝรั่งเศสจึงวาทะว่า “วิธีเขียนคือคน” ( Le style, e’est I’homme )… ซึ่งเป็นศิลปะการใช้ถ้อยคำและสำนวนโวหาร โดยอาจจำแนกได้ดังนี้
1. การเลือกใช้คำว่าเหมาะกับเนื้อเรื่องหรือไม่
2. สำนวนโวหารซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของผู้เขียน
3. การพรรณาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นตอนนั้น
4. การลำดับประโยคลำดับคำให้สมเหตุสมผลกับเนื้อหาของเรื่องและตอนนั้น ๆ

สำนวนภาษา
ภาษาที่มักจะเป็นภาษาที่เรียบง่าย เป็นภาษาปากที่เราใช้กันอยู่ธรรมดา ๆ ซึ่งทำให้ผู้อ่านอ่านง่ายเข้าใจง่าย การใช้ภาษาในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนั้นดีมาก เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนที่รอบรู้ เป็นนักเดินทาง ทำให้งานเขียนเรื่องนี้ออกมาดี ถ่ายทอดเรื่องราวได้เหมือนเรื่องจริง จนผู้อ่านคิดว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ตัวละครที่ปรากฏนั้นก็สื่อเรื่องราวออกมาได้ดีโดยผ่านการเล่าเรื่องของตัวละครที่เป็นตัวเด่น หรือนางเอกนั่นเอง

สำนวนโวหาร
นวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล นั้นตามลักษณะของผู้ประพันธ์จะใช้การพรรณนาบรรยายโวหาร เพราะเป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ แต่ถึงอย่างไรผู้ประพันธ์ก็ยังได้ใช้สำนวนโวหารอื่น ๆ ที่ชวนอ่านเข้ามาใช้ในการแต่ดังนี้
1. พรรณนาโวหาร ในเรื่องนี้เป็นการพรรณนาถึงความงามของธรรมชาติซึ่งอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบตัววังและเขตพระราชฐาน ความงามของตึกหรือพระตำหนัก ความงามของพระเอก นางเอก ความงามของพระราชวัง เป็นต้น ซึ่งได้ใช้ภาษาอันไพเราะงดงาม
2. อุปมาโวหาร เป็นโวหารที่กล่าวเปรียบเทียบโดยสิ่งที่กล่าวถึงนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

สภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏ
สภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องนี้อาจแบ่งได้สองส่วนดังนี้

สภาพสังคม
สภาพสังคมที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ผู้แต่งได้กำหนดให้ตัวละครใช้ชีวิตในสังคมที่มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเป็นส่วนใหญ่ และมีการเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตที่ร่ำรวยกับชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก แต่จริง ๆ แล้วถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตจริง ๆ แล้วนางเอกของเรื่องก็ไม่ได้ลำบากเท่าไรนัก ที่สร้างตัวละครเช่นนี้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสังคมที่มีแต่ความหลอกลวงของคนร่ำรวย และสังคมที่มีแต่การเอารัดเอาเปรียบกัน เปรียบเทียบกับชีวิตที่เรียบง่ายไม่ร่ำรวย มีฐานะอย่างปานกลางแบบพระเอก โดยมีทั้งชีวิตครอบครัวและชีวิตของคนที่เห็นแก่ตัวปนเปไปกับเรื่องราวของตัวละครในแต่ละตัว ซึ่งสามารถจำแนกออกมาได้ดังนี้คือ
1. ชีวิตครอบครัวที่เรียบง่าย วิถีชีวิตแบบธรรมดา
2. วิถีชีวิตคนในรวยที่ดูจะหรูหราจนเกินไป
3. การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในสังคมปัจจุบัน
4. การแบ่งชนชั้นวรรณะกันในสังคม
5. แนวความคิดของคนรวยกับคนจนที่เกิดขึ้นในนวนิยายซึ่งตรงกับเรื่องจริงในสังคมปัจจุบัน
6. เรื่องชู้สาว ซึ่งคนปัจจุบันนี้มักจะมีปัญหาเช่นนี้อยู่เสมอ ๆ

วัฒนธรรม
วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือผลิตขึ้นเพื่อสร้างความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตของมนุษย์ แล้วถ่ายทอดสืบทอดกันมาเป็นรุ่น ๆ จนเกิดเป็น วัฒนธรรมที่ยึดถือกันมายาวนาน ซึ่งในเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามและความมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยดังนี้
1. วัฒนธรรมทางวัตถุ ได้แก่ เครื่องใช้ไม้สอย การเย็บปักถักร้อย อาหาร เป็นต้น
2. วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ ได้แก่ ศาสนา การละเล่น ประเพณี

สรุปและอภิปรายผล
การวิเคราะห์นวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุลนั้น มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกลวิธีการเขียนของผู้ประพันธ์ในด้าน การสร้างโครงเรื่อง แก่นของเรื่อง การดำเนินเรื่อง ฉาก การสร้างตัวละครและบทสนทนา กับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับท่วงทำนองการเขียนของผู้ประพันธ์ในด้านสำนวนภาษาและโวหารที่ใช้ในนวนิยายเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกเอาไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
ผลการวิเคราะห์วิจารณ์พบว่า นวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงเรื่องราวชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความแบ่งแยกชนชั้นกันในสังคม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะบอกว่าไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะแต่จริง ๆ แล้วปัญหาเช่นนี้ก็ยังมีกันในสังคมอยู่ นอกจากนั้นยังบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนรวยคนจนที่แตกต่างกัน แต่ว่าในเรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าพระเอกจะจนแต่ฐานะของพระเอกเป็นฐานะปานกลาง ซึ่งคนรวยเห็นก็คิดว่าจนเพราะเทียบกับเขาไม่ได้ โดยผู้เขียนมีกลวิธีการเขียนเรื่องและการผูกเรื่องเชื่อมโยงกับฐานะที่แตกต่างกัน ทำให้ปมเรื่องน่าสนุกยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้สะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรมออกมาได้อย่างชัดเจนสมเหตุสมผล มีการดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา ความรัก ความกตัญญู เรื่องราวของครอบครัว ความมีเลือดรักชาติ รักในวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ส่วนเรื่องของบทบาทตัวละครนั้น ผู้ประพันธ์ได้กำหนดลักษณะตามฐานะโดยชี้ให้เห็นความแตกต่างทั้งเรื่องการแต่งกาย ภาษาที่ใช้ การกินอยู่ที่แตกต่างกัน และแนวคิดที่แตกต่างกันอีกด้วย
สำหรับท่วงทำนองการเขียนนั้น ผู้ประพันธ์เลือกใช้คำและสำนวนภาษาที่เหมาะสม ใช้โวหารทั้งการบรรยาย และการพรรณนา เพื่อให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมที่ปรากฏได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอขอบคุณ คุณสุชาดา โมรา ที่วิเคราะห์ นวนิยายเรื่องเรือนไม้สีเบจ ของ ว.วินิจฉัยกุล เพื่อเป็นวิทยาทานให้กับผู้อ่านเพื่อเป็นตัวอย่าง และแนวทางในการวิเคราะห์นวนิยายเรื่องต่อไป จึงขอขอบคุณท่านเป็นอย่างมาก
ขอให้ท่านพบแต่ความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน
อ.ฑลิกา