ตะลอนทัวร์คลอดทริปใหม่

ปีใหม่นี้ จะฉลองปีใหม่กันที่ไหน ที่แน่แน่ พวกสมาชิกตะลอนทัวร์เตรียมเก็บกระเป๋ากันได้แล้ว เมื่อครั้งก่อนไปเที่ยวคลองวาฬ ข้าน้อยทำผิดอย่างแรงทิ้ง สองป้าให้เดินหลงทางกลับที่พัก ใครจะไปคิดล่ะว่า ไอ้แค่ 200 ม.ตรง ๆ ท่านพี่จะหลงทาง ก็ประสบการณ์ย่ำมาแล้วรอบโลก ก็น่าจะไม่หลง แต่ผิดครับหลงครับท่าน ได้ข่าวว่าคราวนี้ จะหอบหิ้วเอาผู้อำนวยการโรงเรียนไปหลงอีกคน นี่ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พากันหลงเหมือนเมื่อคราวก่อน สงสัยต้องเตรียมหางานใหม่กันได้เลย เรียกว่ากลับมาตัวใครตัวมัน ฮิฮิฮิ มีต่อ

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

การวิเคราะห์เรื่องสั้น


เรื่องสั้น “นกเขาเถื่อน” เป็นผลงานของ วรภ วรภา ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารช่อการะเกด เมื่อปี พ.ศ.2536 “นกเขาเถื่อน” เป็นเรื่องของเด็กชายสืบธงนักเรียนชั้น ป.6 ถูกครูในโรงเรียนกล่าวหาว่าขโมยนกเขาที่ครูคนหนึ่งลี้ยงไว้ แม้เขาจะปฏิเสธอย่างไรก็ตาม ครูก็ไม่เชื่อ เด็กชายถูกข่มขู่จากครูและกำนันให้ยอมรับและสัญญาจะไม่เอาโทษ เขาถูกครูกดดันอย่างหนักจนในที่สุดเขาก็จำต้องยอมรับถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นคนขโมยก็ตาม ผลของการยอมรับผิดทำให้เขาถูกครูลงโทษด้วยการเฆี่ยนหกที แต่ครูเฆี่ยนได้สามทีก็ต้องหยุดเพราะเด็กชายทนเจ็บไม่ไหว และจะรอรับโทษที่เหลือในวันรุ่งขึ้น แต่วันต่อมาครูในโรงเรียนก็รู้ความจริงว่าเด็กชายสืบธงไม่ได้เป็นคนขโมยนกเขา แต่กลับเป็นเด็กชั้น ป.4 เป็นคนยิงนกเขาที่ครูเลี้ยงไว้ สร้างความกดดันให้ครูที่ลงโทษเด็กชายไปแล้วแต่ไม่กล้ากลับมาเผชิญหน้ากับเด็กชาย พอ ๆ กับเด็กชายรู้สึกกดดันที่ครูเงียบไปไม่กล้าออกมาพูดกับเขาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นรวมทั้งเรื่องการลงโทษอีกเลย
เรื่องสั้นเรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยการสร้างความสนใจใคร่รู้ให้เกิดขึ้นกับผู้อ่านด้วยการบรรยายถึงเสียงนกเขาเถื่อนขัน แต่แทนที่เสียงอันไพเราะของนกเขาจะสร้างความรู้สึกที่น่าพึงพอใจแต่กลับก่อให้เกิดความรู้สึกคล้ายเสียงเยาะหยันกับชะตากรรมที่ตัวละครกำลังจะได้รับ เรื่อง “นกเขาเถื่อน”มีการดำเนินเรื่องตามลำดับปฏิทิน ผู้เขียนให้ตัวละครเอกคือ สืบธงเป็นผู้เล่าเรื่องโดยใช้สรรพนาม “ผม” ปมปัญหาของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อครูนทีกล่าวโทษเด็กชายสืบธงว่าเป็นผู้ขโมยนกเขาที่ครูเลี้ยงไว้ โดยมีพยานคือเด็กนักเรียนชั้น ป.1 เห็นเด็กชายสืบธงเข้าไปในเรือนเพาะชำของโรงเรียนที่ครูนทีแขวนกรงนกเขาไว้ แต่เขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ ความกดดันเริ่มเกิดกับเด็กชายมากขึ้นเมื่อครูนทีบอกกับเขาว่าถ้าไม่ยอมรับผิดจะทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองและกำนันถึงความผิดที่เขาได้ทำลงไป และเมื่อครูนทีไปรับกำนันมาที่โรงเรียนเพื่อช่วยสอบสวน เด็กชายก็ถูกกดดันเพิ่มมาขึ้นอีกเมื่อกำนันพูดถึงข้อหาเดิม ๆ ที่เขาเคยก่อไว้โดยไม่ตั้งใจ และหลายเรื่องก็เป็นอุบัติเหตุที่เขาเคยชี้แจงไปแล้ว แต่ดูเหมือนความผิดเหล่านั้นจะติดตัวเขาไปตลอด ในที่สุดด้วยความเหนื่อยบวกกับปวดท้องเพราะหิวจนไส้แทบขาด เนื่องจากเขาถูกกักตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง อีกทั้งครูบอกจะไม่ลงโทษถ้าเขายอมรับผิด เด็กชายจึงตัดสินใจยอมรับว่าเขาเป็นคนขโมย ครูไม่ลงโทษเขาทางกฎหมายแต่ลงโทษด้วยการเฆี่ยนหกที ทำให้เขาเกิดความรู้สึกเจ็บและอายในความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ และรอรับการลงโทษที่เหลือในวันรุ่งขึ้น จุดวิกฤตของเรื่องคือในวันรุ่งขึ้น ที่ครูนทีรู้ว่าคนที่ขโมยนกเขาของครูไม่ใช่เด็กชายสืบธง แต่เป็นดำริเด็กนักเรียนชั้น ป.4 อีกคนหนึ่งที่วันนี้ไม่มาโรงเรียน และครูประจำชั้นได้สอบถามถึงสาเหตุ เพื่อนของดำริจึงเล่าให้ครูฟังว่าดำริจับนกเขาได้ และวันนี้กำลังจะลงมือฆ่านกตัวนั้น เมื่อครูนทีไปดูจึงรู้ว่าเป็นนกเขาตัวที่ครูลี้ยงไว้นั่นเอง เรื่องจึงคลี่คลายเมื่อทุกคนรู้ว่าสืบธงไม่ได้ทำผิด แต่ตอนจบเรื่องผู้อ่านจะรู้สึกว่าครูนทีอาจจะรู้สึกผิดในสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไป จึงไม่กล้ามาสู้หน้าสืบธง เด็กนักเรียนตัวเล็ก ๆ ที่ครูกล่าวโทษและปรักปรำว่าเขาเป็นคนผิดตั้งแต่ต้น
แนวคิดของเรื่อสั้นเรื่องนี้ ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่า การกล่าวโทษใครคนใดคนหนึ่งต้องทำด้วยความรอบคอบ มีสติ มีเหตุผลและมีหลักฐานที่แน่นหนา เพราะถ้าผู้ที่ถูกกล่าวโทษไม่ได้ทำผิดจริง สิ่งนั้นจะเปรียบเสมือนตราบาปที่ติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิตและในทางกลับกันอาจจะสร้างความรู้สึกผิดและละอายให้กับผู้กล่าวโทษด้วย แนวคิดของเรื่องนี้สื่อผ่านการเปรียบเทียบระหว่างนกเขากับเด็กชายสืบธง ด้วยความตั้งใจของผู้เขียนมาโดยตลอด เช่น ตอนที่ครูนทีพากำนันมาช่วยสอบสวน
“...ผมรู้ตัวว่ายิ่งเวลาผ่านไป ทุกส่วนของผมยิ่งฝ่อเล็กลง ๆ ท่าทางของผมคงเหมือนกับนกเขาที่เป็นโรคอย่างหนัก ได้แต่ยืนเกาะคอนเซื่องซึม คอตกห้อย ดวงตาปรือปิด ขนยุ่งเป็นกระเซิงและไม่มีเรี่ยวแรงจะแผ่วเสียงคูให้ได้ยิน...”
หรือตอนที่กำนันพูดถึงข้อหาที่เขาเคยกระทำมาก่อน ความรู้สึกของเขาผู้เขียนได้เปรียบเทียบดังนี้
“...ผมรู้สึกเหมือนเป็นนกเขาที่ถูกต้อนเข้ามุมอับในกรงเล็ก ๆ แล้วมีมือใหญ่มหึมาเอื้อมเข้ามาบีบเค้น บีบจนไส้ของผมเจ็บปวดแทบขาดจากกัน บีบจนรวดร้าวไปทั้งตัว...”
เมื่อเขาถูกครูลงโทษด้วยการเฆี่ยน ผู้เขียนบรรยายว่า
“...ผมสะดุ้ง แอ่นร่างด้วยความเจ็บแสบ นกเขาของผมปีกหักทันที”
และในตอนสุดท้ายเมื่อครูนทีรู้ความจริงว่าสืบธงไม่ได้ทำผิด แต่เมื่อลงโทษไปแล้วคงรู้สึกละอาย ไม่กล้าออกมาคลี่คลายเรื่องทั้งหมด ผู้เขียนบรรยายว่า
“...ขณะนี้ในหัวใจของผมหนักอึ้ง อึดอัด กระวนกระวาย ผมไม่รู้ว่าเวลานกเขาถูกขังอยู่ในกรงมันจะรู้สึกอย่างไรแต่ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนกับมีซี่ลูกกรงสานถี่ ๆ มากักอยู่โดยรอบตัวผม ผมไม่สามารถเล็ดรอดออกไปได้...”
การสื่อแนวคิดด้วยการเปรียบเทียบสืบธงกับนกเขาในหลาย ๆ ตอนผู้เขียนอาจต้องการเปรียบเทียบให้เห็นว่าสืบธงไม่ได้ทำผิดแต่ถูกปรักปรำจนต้องยอมรับ เพราะอยู่ในสถานภาพที่เป็นเบี้ยล่าง เหมือนกับนกเขาที่ครูเลี้ยงไว้ ไม่มีปากไม่มีเสียงแต่ก็ต้องถูกฆ่าตายด้วยความคึกคะนองของเด็ก
ทางด้านตัวละคร ตัวละครเอกในเรื่องนี้คือ “สืบธง” ผู้เขียนไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับภูมิหลังของสืบธงมากนัก ผู้อ่านจะทราบเพียงว่าเขาเป็นเด็กนักเรียนชั้น ป.6 สืบธงเป็นตัวละครที่สมจริง ด้วยความเป็นเด็กเขาเคยทำผิดมาก่อน แต่เมื่อทำผิดทุกครั้งเขาก็ยอมรับ แต่การที่ครูกล่าวหาเขาขโมยนกเขาที่ครูเลี้ยงไว้ เมื่อเขาไม่ได้ทำ เขาจึงไม่ยอมรับ แต่ด้วยความเป็นเด็กที่ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้เขาต้องตัดสินใจรับผิดทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เป็นคนก่อขึ้น คิดเพียงตื้น ๆว่า ถ้ารับผิดเรื่องจะได้จบ เพราะครูสัญญาว่าจะไม่ลงโทษ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เขาถูกลงโทษเจ็บทั้งกายเจ็บทั้งใจ แต่เขาไม่มีความโกรธขึ้งครู ไม่คิดจะแก้แค้นแม้เขาจะมีโอกาส เช่น ในตอนที่เขาพาครูไปเพื่อชี้ที่ซ่อนกรงนก เพราะถูกครูบังคับให้ไป ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เอากรงมาซ่อนก็ตาม เขาคิดว่า
“...ถ้าผมคิดจะแก้แค้นในขณะนี้ดูง่ายนักหนา เพียงแต่ผมพาครูมุดซุ้มหนามหรือไม่ก็หลอกให้ครูเข้าไปหากรงนกในดงมดแดงเท่านี้ ครูนทีก็จะเจ็บปวดอีกนาน แต่ไม่หรอก ผมทำบาปอย่างนั้นไม่ได้ ครูนทีเป็นครูของผม มีพระคุณต่อผม ผมจะเนรคุณครูไม่ได้...”
หรือตอนที่สืบธงรู้ว่านกเขาที่ครูลี้ยงไว้ถูกเด็กนักเรียนคนอื่นฆ่าตาย เขากลับนึกสงสารครูนที
“...ผมสงสารครูนทีเหลือเกิน ครูอุตส่าห์เลี้ยงมันมาอย่างทะนุถนอม อุตส่าห์ดูแลมันอย่างดี ดำริทำให้ครูต้องสูญเงินเป็นหมื่น ๆ ทีเดียว...”
และถึงแม้สืบธงจะเป็นเด็ก แต่เขาก็มีความเป็นลูกผู้ชาย พยายามจะเข้มแข็งไม่ร้องไห้ต่อหน้าครูและคนอื่น ๆ
“...น้ำอุ่น ๆ ไหลผ่านแก้มหยดลงบนเสื้อนักเรียน มันเป็นน้ำเหงื่อหรือว่าน้ำตากันแน่ ไม่หรอก ลูกผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ ผมรับโทษมาจนชินแล้ว อีกสักครั้งก็ไม่เป็นไรหรอก อย่าร้องไห้ซิ.....
คงเป็นน้ำเหงื่อมากกว่า ห้องนี้ร้อนเหลือเกิน...” แต่ด้วยความเป็นเด็ก ในที่สุดเขาก็ไม่สามารถกลั้นน้ำตาแห่งความเจ็บปวดได้
“...ถ้าเป็นที่บ้านผมคงทุ่มตัวลงกลิ้งเกลือกและตะเบ็งเสียงโฮๆ ออกมาแล้ว แต่นี่เป็นโรงเรียน ผมไม่อาจทำอย่างนั้นได้ ผมกัดฟันกลั้นเสียงร้องไม่ให้หลุดออกมา หากดูจะได้ผลน้อยซะเหลือเกิน จนในที่สุดผมก็ละทิ้งความอาย สะอื้นฮัก ๆ ต่อหน้าครูทุกคน...”
การบรรยายฉาก ฉากในเรื่องสั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท ถึงแม้ฉากจะน้อย แต่บางตอนผู้เขียนบรรยายอย่างละเอียดให้ผู้อ่านมองเห็นภาพ เช่น ฉากในห้องพยาบาลใกล้ห้องพักครูที่สืบธงถูกกักบริเวณไว้ ผู้เขียนบรรยายดังนี้
“...ห้องนี้เป็นห้องพยาบาลเล็ก ๆ ซึ่งถูกกั้นแบ่งมาจากห้องพักครู ด้านหน้ามีผ้าม่านสีมอ ๆ แบ่งส่วนกับหมู่โต๊ะครู ตั้งฉากกับตู้เอกสารสามใบซึ่งกั้นเป็นฝาข้างโต๊ะอาจารย์ใหญ่ สองด้านที่เหลือเป็นฝาผนังของอาคารเรียน มีหน้าต่างด้านละสองบาน ภายในห้องวางเตียงพยาบาลขนานกันสองเตียง ผ้าปูเตียงกระดำกระด่างคราบสกปรก...”
ทางด้านบทสนทนา บทสนทนาในเรื่องสั้นเรื่องนี้ส่วนมากเป็นบทสนทนาเพื่อช่วยในการดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ครูนทีสอบสวนสืบธงและคาดคั้นให้เขายอมรับผิด ตอนที่สืบธงยอมรับผิด หรือตอนครูลงโทษสืบธง จะมีบทสนทนาสลับไปกับการบรรยายทำให้เรื่องดำเนินต่อไปโดยไม่น่าเบื่อ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าคำพูดของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นครูนที หรือกำนันบางตอน เป็นคำพูดที่เพิ่ม “มูลค่า”ให้กับนกเขาที่หายไปมากกว่าความเป็นจริง อาจเพื่อต้องการให้สืบธงมองเห็นความผิด(ที่คนทั้งสองคิดว่าเขาทำ)ให้ดูร้ายแรงและมีโทษหนักมากยิ่งขึ้น เช่น
“นกเขาตัวนั้นเป็นทรัพย์สินของครู เมื่อเธอเอาไปก็เท่ากับว่าเธอขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ผิดทั้งทางศีลธรรมและกฎหมาย เธอรู้มั้ยว่านกเขาตัวนั้นถ้าครูเอาไปขายต้องได้ราคาอย่างน้อยสามสี่พันบาท นี่ถ้าเป็นของคนอื่นเธอต้องถูกจับส่งตำรวจอย่างแน่นอน”
หรือจากคำพูดของกำนัน
กำนันเดินเข้ามาจับไหล่ผม “เธอรู้ไหมว่านกเขาดี ๆ ยังงั้นถ้าส่งเข้าประกวดต้องชนะเลิศ แน่ ๆ ได้เงินรางวัลเป็นหมื่นเชียวนะ เธอทำให้ครูนทีสูญเงินเป็นหมื่นเชียว”
แต่ในที่สุด “มูลค่า” ที่แท้จริงของนกตัวนี้ก็เปิดเผยจากคำพูดของครูนทีเอง
“สงสัยคนตัดยางมาเจอเลยเอาไป บ้าชิบ ราคาตั้งเกือบพัน”
ทางด้านลีลาการใช้ภาษา ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย โดยการใช้ประโยคสั้นกระชับ การเลือกสรรคำบางตอนสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้ผู้อ่าน เช่น
“...เหงื่อย้อยเข้าตาจนแสบปร่าแล้วไหลผ่านลงมาตามร่องแก้ม รู้สึกอุ่นเป็นทางไม่ผิดกับตอนน้ำตาไหลเลย
...หรือมันจะเป็นน้ำตาจริง ๆ
ครูนทีปล่อยให้ผมนั่งอยู่ในห้องนั้นคนเดียว มันทำให้ผมเงียบเหงาทั้ง ๆ ที่ด้านตรงข้ามยังคงเซ็งแซ่ด้วยเสียงคุย เสียงเลื่อนเก้าอี้และเสียงพิมพ์ดีดของครู
ความเหงามันคงไหลมาจากหัวใจมันจึงเหงาได้เพียงนี้
เวลาเคลื่อนผ่านไปช้า ๆ ค่อย ๆ กัดเซาะหัวใจของผมทีละน้อย ๆ ......”
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกของเด็กเล็ก ๆ ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาที่ร้ายแรง ความอ้างว้างโดดเดี่ยวที่จะต้องต่อสู้กับเรื่องที่เกิดขึ้นตามลำพังทำให้เกิดความหว้าเหว่ เหงาลึก
“...ผมติดค้างครูนทีอยู่อีก 3 ที ก้นของผมไม่สามารถรับไม้เรียวที่ครูหวดลงมาสุดแรงได้ แต่ละทีที่ครูฟาดมันลงมาทำให้ผมแสนจะเจ็บปวดรวดร้าว เจ็บจนผมลืมความแสบหิวในท้องเสียหมด แรงฟาดสามทีที่ซ้ำซ้อนลงบนบริเวณใกล้เคียงกันทำให้ก้นของผมบวมช้ำ จนแค่เอามือลูบผ่านก็เจ็บสะท้านถึงในอกทีเดียว...”
เป็นตัวอย่างของการใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่สามารถเข้าถึงความรู้สึกเจ็บปวดทางกายของตัวละครได้ชัดเจน
นอกจากนี้ในบางตอนมีการใช้ภาษาในเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะที่เป็นปรพากย์เพื่อต้องการสื่อนัยยะบางอย่าง เช่น
...ผมนั่งงองุ้ม มือทั้งสองกดท้องด้วยหวังว่าถ้ามันแบนแฟบ อาจจะช่วยทำให้คลายความหิวลงได้บ้าง ร่างของผมหดสั้นลงกว่าเดิม ในขณะที่ครูนทีและกำนันดูสูงใหญ่ขึ้นทุกที
คำว่า “หดสั้น” ในที่นี้หมายถึง ความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในสถานภาพที่เป็นรองและตกอยู่ในความกลัวเกรงการถูกคุกคาม
คำว่า “สูงใหญ่” หมายถึง กิริยาอาการของผู้ที่เหนือกว่าในทุก ๆ ด้าน การใช้ภาษาที่ต้องตีความในบางตอนจะสร้างอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าการบรรยายอย่างตรงไปตรงมา

เรื่องสั้นเรื่อง”นกเขาเถื่อน” สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันดูจะเป็นสังคมแห่งการ “กล่าวโทษ” โดยขาดวิจารณญาณและเหตุผล ยึดเอาความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งผลอาจก่อให้เกิดความผิดทางใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าคนในสังคมมีใจเป็นธรรม ไม่ด่วนตัดสินใครคนใดคนหนึ่งว่าเขาเป็นผู้ผิดเสียตั้งแต่ต้น สังคมไทยก็คงเป็นสังคมที่มีแต่ความเอื้ออาทรและคนในสังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

-------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: