ตะลอนทัวร์คลอดทริปใหม่

ปีใหม่นี้ จะฉลองปีใหม่กันที่ไหน ที่แน่แน่ พวกสมาชิกตะลอนทัวร์เตรียมเก็บกระเป๋ากันได้แล้ว เมื่อครั้งก่อนไปเที่ยวคลองวาฬ ข้าน้อยทำผิดอย่างแรงทิ้ง สองป้าให้เดินหลงทางกลับที่พัก ใครจะไปคิดล่ะว่า ไอ้แค่ 200 ม.ตรง ๆ ท่านพี่จะหลงทาง ก็ประสบการณ์ย่ำมาแล้วรอบโลก ก็น่าจะไม่หลง แต่ผิดครับหลงครับท่าน ได้ข่าวว่าคราวนี้ จะหอบหิ้วเอาผู้อำนวยการโรงเรียนไปหลงอีกคน นี่ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พากันหลงเหมือนเมื่อคราวก่อน สงสัยต้องเตรียมหางานใหม่กันได้เลย เรียกว่ากลับมาตัวใครตัวมัน ฮิฮิฮิ มีต่อ

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

การวิเคราะห์ข่าว กิจการนักเรียน


สรุปประเด็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักเรียนนักศึกษา (1 – 6 กันยายน 2551)
ผู้จัดทำรายงาน
นางฑลิกา ค้าขาย รหัส 501424014
เรื่องที่ 1 ประชาธิปไตยคืออะไรพ่อแม่ต้องสอนลูกยาม"ม็อบ"
แหล่งอ้างอิง หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551
การเมืองร้อนระอุ ! เกิดกรณี ไทยฆ่าไทย จนหลายฝ่ายเกรงว่าความขัดแย้งระดับชาติอาจลุกลามเข้าสู่ "ครอบครัว" เป็นสาเหตุทำให้ "ครอบครัว" ไร้ความสงบสุข อันเนื่องจาก "ความเห็นต่าง" จำเป็นต้องมีการจัดการความไม่ลงรอยในครอบครัวให้ได้ เหนืออื่นใดพ่อแม่ต้องสอนและอธิบายสภาพบ้านเมืองให้ลูกเข้าใจ
พญ.วราพรพันธุมโกมล กุมารแพทย์คลินิกวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน เหมือนเป็นดาบสองคม เด็กและวัยรุ่นจำนวนมากอาจไม่เข้าใจ พ่อแม่ต้องบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ลูกเข้าใจ อธิบายความหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ว่าไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปบริหารประเทศเท่านั้น ต่อเมื่อผู้แทนที่เลือกเข้าไปปฏิบัติไม่ดี ประชาชนมีสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยที่จะชุมนุมไม่ให้ผู้แทนบริหารประเทศอีกต่อไป เพราะเกรงว่าบ้านเมืองอาจจะพินาศ แต่การชุมนุมต้องสงบ ไม่มีการใช้อาวุธ เคารพกฎหมาย พ่อแม่ควรจะสอนลูกก็คือ ไม่มีอำนาจหรือบุคคลหรือสิ่งใดจะยิ่งใหญ่เท่าเสียงของประชาชน แม้เป็นคนที่เราเลือกเข้าไป แต่เมื่อไม่เหมาะสมที่จะบริหารประเทศ ประชาชนมีสิทธิตามกฎหมายในการไถ่ถอน ต้องให้เขารู้ว่าเขามีสิทธิอะไรบ้างตามรัฐธรรมนูญ พญ.อัมพร แนะเพิ่มว่า การพาลูกไปม็อบไม่ใช่การเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ควรให้ลูกเรียนรู้ผ่านข้อมูลข่าวสารบ้านเมือง จากสื่อที่นำเสนอความจริง พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต้องกรองสื่อให้เด็กก่อนระดับหนึ่ง ยิ่งเป็นวัยรุ่นที่มีความคิดเห็นที่สุดโต่ง ผู้ใหญ่ต้องให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดเพื่อระงับความสุดโต่ง
วิเคราะห์ข่าว – ข้อเสนอแนะ
ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเกิดภาวะวิกฤตการณ์ การเมืองร้อนระอุประชาชนชาวไทยไร้ความสงบสุข อันเนื่องมากจากการก่อม๊อบของกลุ่มพันธมิตรที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศอีกต่อไป เหตุการณ์ดังกล่าว เสมือนดาบสองคมเยาวชนจำนวนมากไม่เข้าใจว่าในขณะนี้ทำไมบ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย
ดังนั้นผู้ปกครองควรจะอธิบาย ให้ลูกเข้าใจถึงความหมายของระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นอย่างไร การสอนด้วยคำพูดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ผู้ปกครองควรเลี้ยงดูโดยเริ่มจากการใช้ระบอบประชาธิปไตยปฏิบัติกันภายในบ้าน เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้และเข้าใจยิ่งขึ้น เช่น การให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือตัดสินใจเลือกในสิ่งที่เขาต้องการ พ่อ แม่ต้องเปิดใจกว้างเมื่อเห็นลูกมีความเห็นที่ต่างไป ควรภูมิใจที่ลูกมีความเห็นของเขาเอง แต่ในการตัดสินใจควรอยู่ในกรอบของสังคม โดยพ่อแม่เป็นผู้ดูแล สนับสนุน แนะแนวทางลูกว่า ถูก ผิดอย่างไร
หากครอบครัวในประเทศไทยสามารถเลี้ยงดูลูกโดยใช้ระบอบประชาธิปไตยภายในบ้าน จะทำให้ครอบครัวมีความสุข เกิดความอบอุ่นภายในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก มีความไว้วางใจในกันและกัน เด็กที่โตขึ้นจะเป็นเยาวชนที่ดี และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันหน้า
จึงมีคำถามต่อไปว่า การปกครองโดยใช้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถึงไม่เกิดการพัฒนา บ้านเมืองไม่สงบสุข ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ประเด็นคือมันเกิดจากอะไร ใครเป็นคนก่อ?


เรื่องที่ 2 นร.-นศ.ประท้วงหน้า สตช.ตั้ง 10 คำถามแทงใจดำ!
แหล่งอ้างอิง ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ 5 กันยายน 2551
กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากโรงเรียนสาธิตมัฆวาน แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน กว่า 300 คน รวมตัวเคลื่อนขบวนบุก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ่านแถลงการณ์ ระบุ ตร.ทำหน้าที่ตามคำสั่งของรัฐ ละเลยการทำหน้าที่ดูแลประชาชน และดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมล่าช้า พร้อมตั้งข้อสงสัย 10 ข้อให้ ตร.ต้องตอบประชาชนให้ได้
1.กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกดักยิงขณะเดินทางไปบ้านพักนายกรัฐมนตรี จะใช้เวลาเท่าใดในการสืบสวนสอบสวน หาคนผิดมาดำเนินคดี
2.เหตุใดขณะที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในหลายจังหวัด ทั้งที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ ทั้งกรณีกลุ่มคนรักอุดรรุมทำร้ายพันธมิตรฯ และกรณี นปช.บุกเข้ามาทำร้ายประชาชนที่สะพานมัฆวาน ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำได้เพียงยืนมองอย่างแน่นิ่ง ราวไร้วิญญาณ เหตุใดตำรวจจึงไม่รีบเร่งดำเนินคดีกับมวลชนที่บ้าคลั่งทำร้ายทำลายประชาชน
3.ผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ตำรวจทำหน้าที่เกินขอบเขต ทำร้ายประชาชน และขโมยทรัพย์สินของประชาชน บริเวณสะพานมัฆวานคือใคร จะมีการดำเนินการลงโทษตำรวจทำหน้าที่เกินขอบเขตหรือไม่
4.เหตุการณ์วางระเบิดก่อกวนการชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวาน และย้อนไปถึงเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงปีใหม่ปี 2550 มีเบาะแสบ้างหรือยัง
5.ทำไมจึงปล่อยให้กลุ่มที่ก่อความรุนแรงที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 22 กค.2550 ลอยนวลออกมาก่อความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า
6.เหตุใดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงมีความล่าช้าผิดสังเกต
7.ทนายสมชาย หายไปไหน
8.ตำรวจจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง อย่างเช่น เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และ 2519 เกิดขึ้นอีก
9.ระหว่างรัฐบาลที่มีพฤติกรรมนิยมความรุนแรงกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ท่านจะเลือกปกป้องสวัสดิภาพและรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายใด
10.เกียรติตำรวจของไทย ปัจจุบันอยู่ที่ไหน และท่านตระหนักในหน้าที่ ดังเพลงมาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ ได้กล่าวไว้มากน้อยเพียงใด


วิเคราะห์ข่าว – ข้อเสนอแนะ
การออกมาเรียกร้อง ของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองในช่วงนี้ มีการจัดตั้งกลุ่มในชื่อว่า กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากโรงเรียนสาธิตมัฆวาน แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน การออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว ตามหลักสิทธิตามระบบประชาธิปไตยแล้ว ย่อมทำได้ และหากมองดูอย่างผิวเผิน ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ของชาติ หันมาสนใจเรื่องราวทางด้านการเมือง และมีการรวมกลุ่มเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะหลักการของระบอบการปกครองที่ชื่อว่าประชาธิปไตยนั้น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง
ประเด็นอยู่ที่ว่า นักเรียนกลุ่มนี้ เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ด้วยอุดมการณ์ อันแรงกล้า หรือ ถูกชักจูงร่วมเข้าร่วมชุมนุม การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นั้น เป็นปัญหาที่มีนัยยะทางการเมือง ในเบื้องต้น ก็เพียงปิดถนนและเปิดปราศรัย โจมตีรัฐบาล ต่อมาในภายหลัง ได้ยึดทำเนียบ รัฐบาลและมีการปะทะกับ กลุ่มที่ต่อต้านพันธมิตรที่มีชื่อว่า นปช. แกนนำของกลุ่มพันธมิตร 9 คนโดยหมายจับจากศาลโดยต้องข้อหากบฏ การยึดทำเนียบรัฐบาลนั้น ศาลแพ่งได้ออกคำสั่งให้มีการเลิกการชุมนุมและออกจากทำเนียบ มาการหยุดเดินรถไฟทางภาคใต้ มีการยึดสนามบิน หาดใหญ่ และภูเก็ต วิธีการต่อสู้เพื่อให้ได้ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตร นั้น มีการละเมิดกฎหมาย และเมิดคำสั่งศาล อย่างนี้ เป็นสิ่งที่เยาวชนของชาติ ควรสนับสนุนและทเอาเป็นแบบอย่างหรือไม่ เป็นการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องหรือเปล่า
การต่อสู้ทางการเมืองของเหล่านักเรียนนิสิต นักศึกษาเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรามีเหตุการณ์ การเรียกร้อง ของเหล่านิสิตนักศึกษา เช่นกรณี 14 ตุลา ที่มีการต่อต้านระบบเผด็จการทหาร เรียกร้องขอประชาธิปไตย จากรัฐบาลเผด็จการทหาร จนมีการปราบปรามนองเลือด แต่ในการชุมนุมเรียกร้องครั้งนี้ เพื่อประชาธิปไตยหรือไม่ และเราจะสอนเหล่าเยาวชน ว่าประชาธิปไตย เป็นอย่างไร เราควรต่อสู้ข้างถนน หรือควรต่อสู้ในชั้นศาล เหล่านี้คือประเด็นที่ต้อง หาคำตอบ การแสดงออกทางการเมือง ของนักเรียนนักศึกษาเป็นสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ เป็นการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย
แต่เขาได้ถูกชักจูงและเป็นเครื่องมือ เพื่อผู้ใหญ่บางคนหรือไม่ ถ้ามีสถานการณ์ หากนักเรียนในโรงเรียน ต้องการไล่ครูใหญ่ ที่บริหารงานผิดพลาด โดยการรวมกลุ่มเข้ายึดโรงเรียน และประกาศข้อเรียกร้องให้ครูใหญ่ลาออก วิธีการบุกเข้ายึดโรงเรียน เป็นวิธีเรียกร้องที่ถูกต้องหรือไม่ และเราจะสอน ให้พวกเขาเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอย่างไร

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถึงนักเรียนที่รักของครู

ครูจากบทความที่ครูเขียน เป็นสิ่งที่ครูต้องการสื่อให้นักเรียนเห็นว่า การศึกษาไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในชั้นเรียน เขอยกทฤษฎีของ จอห์น ดิวอี้ ที่บอกว่า Learning by doing การที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ ขอให้นักเรียนเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส จักทำให้นักเรียนเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น และมีความสุขกับการได้เรียนรู้นอกชั้นเรียน